วันศุกร์, 18 กรกฎาคม 2568

มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาพร้อมติดตามผลการดำเนินงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะและกลุ่มกาแฟบ้านควนโดน จ.สตูล พร้อมให้คำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาและติดตามผลการดำเนินงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ และกลุ่มกาแฟบ้านควนโดน พื้นที่ อ.ควนโดน จ.สตูล ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพทางการตลาด สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาและติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ และกลุ่มวิสาหกิจกาแฟบ้านควนโดน ในพื้นที่อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน คณะผู้ลงพื้นที่ประกอบด้วย รศ.ดร.สายฝน ไชยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม มรภ.สงขลา นางสาวรามาวดี ปั้นทอง ผู้ประสานงานคลินิกเทคโนโลยี และ นางสาวหัตภเรศ สมสีฤทธิ์ เจ้าหน้าที่โครงการ วัตถุประสงค์เพื่อรับฟังปัญหา ข้อติดขัด และให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการต่ออายุมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ ได้รับมาตรฐาน มผช. และกำลังมีการพัฒนาลายผ้าใหม่ร่วมกับ มรภ.สงขลา คือ “ลายโนรา” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านภาคใต้อย่าง “โนรา” เพื่อสร้างเอกลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านควนโดน ได้รับทั้งมาตรฐาน มผช. และ อย. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายฮาลาล โดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการต่ออายุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับยุคสมัยและตอบโจทย์ผู้บริโภค

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลไปออกแบบแนวทางการสนับสนุนที่ตรงจุด ตอบโจทย์ชุมชน และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ ระบุว่า ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในด้านการออกแบบลายผ้า การผลิต และการแนะนำมาตรฐาน มผช. ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความรู้มากขึ้น สามารถผลิตผ้าได้มีคุณภาพ และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น รายได้ของสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ประธานกลุ่มกาแฟบ้านควนโดนใน กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยมากที่เข้ามาช่วยเหลือทางกลุ่มฯ ตั้งแต่เริ่มจนถึงขั้นตอนการขอมาตรฐานต่าง ๆ ตอนนี้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ หากไม่มีการสนับสนุนจาก มรภ.สงขลา

การลงพื้นที่ดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ird.skru.ac.th/2558/photo.php?id=160

ข้อมูลและรูป โดย เพจ สถาบันวิจัยและพัฒนา