วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

นักวิชาการสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา เผยเหตุผลสำคัญ ทำไมต้องใช้แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ COVID-19

ประธานหลักสูตรสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา ให้ความรู้รองรับสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 เผยเหตุผลสำคัญทำไมต้องใช้แอลกอฮอล์ (alcohol) 70% ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค

ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงเหตุผลที่ต้องใช้แอลกอฮอล์ (alcohol) 70% ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ว่า แอลกอฮอล์จะช่วยให้เกิดการขับน้ำออกจากเซลล์ของเชื้อโรค (dehydrate) หรือการทำให้แห้ง โดยไปรบกวนเยื่อหุ้มเซลล์ด้วยการละลายไขมันที่อยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์ และทำให้โปรตีนตกตะกอน ในที่สุดเชื้อโรคก็ตาย (และแน่นอนผิวหนังเราก็จะรู้สึกแห้ง หยาบ ด้าน ด้วยเมื่อใช้ไปสักระยะ) การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือหมดอายุ นอกจากจะป้องกันไม่ได้แล้วยังอันตรายซ้ำเข้าไปอีก ตรงที่เราหลงคิดว่าป้องกันได้แล้ว จึงทำอะไรลงไปโดยไม่ได้ป้องกัน การแพร่ระบาดก็จะดำเนินต่อไปไม่ยุติ ความเสียหายก็จะบังเกิดตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว แอลกอฮอล์ต้อง 70% หรือตามคำแนะนำของกลุ่มพัฒนาระบบวัตถุอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข คือ ความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้กันจะอยู่ในช่วง 60-90% (ถ้าความเข้มข้นมากกว่านี้จะไม่สามารถเข้าเซลล์ได้) เช่น แอลกอฮอล์ผสมความเข้มข้นสูงของ 80% ethanol ร่วมกับ 5% isopropanol จะสามารถยับยั้งไวรัสที่มีเยื่อหุ้มเป็นลิปิดได้ด้วย (HIV ไวรัสตับอักเสบ B และ C) ส่วนการ disinfect บนพื้นผิวเปียกจะต้องใช้ความเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนั้น ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อผสม wetting agent เช่น dodecanoate (coconut soap) เช่น ของผสม 29.4% ethanol กับ dodecanoate จะออกฤทธิ์ได้ดีกับทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค เพื่อป้องตนเองจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

 ดร.วรพล กล่าวว่า แอลกอฮอล์สามารถเป็นได้ทั้ง disinfectant (กำจัดเชื้อจุลินทรีย์บนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต) และ antiseptic (ใช้กำจัดเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหรือเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต) เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย์ ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนแต่ติดไฟได้ ระเหยได้ง่ายเมื่อละลายกับน้ำจะสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ดีขึ้น จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพ และยังทำให้เยื่อหุ้มเซลล์แตกและเข้าไปรบกวนระบบ metabolism ของเชื้อโรค แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 100% จะทำให้โปรตีนด้านนอกของเยื่อหุ้มเซลล์เสียสภาพได้อย่างเดียว ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงเกินไปก็จะระเหยเร็วเกินไป ในขณะที่เจือจางก็จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้น้อยลง