วันที่ 16 ธันวาคม 2567) ณ โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ Nurse case manager คลินิกส่งเสริมการมีบุตร โดยมี ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงาน พร้อมผลักดันส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาลสังกัด สธ. จำนวน 901 แห่ง เดินหน้าพัฒนา Nurse case manager ให้ทุกคลินิกมีคุณภาพ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า มีเด็กเกิดใหม่เหลือเพียง จำนวน 485,085 ราย ต่ำที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดน้อยกว่าการตาย เท่ากับว่า จำนวนประชากรของไทยลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นับจากปี 2564 นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราเจริญพันธุ์รวม (หรือค่า TFR : Total Fertility Rate) ของประเทศไทยลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนและมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก
หากประเทศไทยไม่มีการออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ จำนวนประชากรที่ลดลง อาจหมายถึงจำนวนแรงงานที่น้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บภาษีรายได้ที่ลดลง ภาระทางด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของประเทศ และการเพิ่มขึ้นของอัตราการพึ่งพิง หรือภาระของประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์
ปัจจุบันกระทรวงสารณสุข มีผลการดำเนินงานการจัดตั้งคลินิก ส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครบทุกแห่ง จำนวน 901 แห่ง โรงพยาบาลที่จัดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IUI (การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก) จำนวน 83 แห่ง ใน 58 จังหวัด และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการ IVF (การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
จากนั้นทางคณะได้ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมติดตามการดำเนินงานคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ โรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากที่สุดในการให้คำปรึกษา ตรวจสุขภาพ และส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 มีหน่วยเทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเจริญพันธุ์ ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ได้อีกด้วย และยังได้เยี่ยมชมการให้บริการของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เห็นถึงความคับแคบของพื้นที่ในการรองรับผู้ป่วยใน เพื่อนำข้อมูลไปสะท้อนให้เกิดการผลักดันโครงการก่อสร้าง โรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดต่อไป