วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา นำผลงานนวัตกรรม นศ.เกษตร
“เครื่องหยอดเมล็ดข้าว-กิมจิเห็ดนางฟ้า-ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ” ถ่ายทอดสู่ชุมชน

มรภ.สงขลา นำนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดรำแดง อ.สิงหนคร ถ่ายทอดผลงานนวัตกรรมเครื่องหยอดเมล็ดข้าวจากเศษวัสดุเหลือใช้ ผลิตภัณฑ์กิมจิเห็ดนางฟ้า และผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ บูรณาการความรู้สู่การแก้ไขปัญหาให้ท้องถิ่น

ผศ.ดร. ธิติมา พานิชย์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชานวัตกรรมเกษตรและอาหารเพื่อชุมชน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ลงพื้นที่จัดกิจกรรมถ่ายทอดนวัตกรรมเกษตรและอาหารสู่ชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดรำแดง ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ มรภ.สงขลา มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการ และด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้นำนวัตกรรมซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาจำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. นวัตกรรมเกษตร (เครื่องหยอดเมล็ดข้าว) และ 2. นวัตกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์กิมจิเห็ดนางฟ้า และผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ) วัตถุประสงค์ของรายวิชานี้มุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน จากนั้นสามารถนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งสร้างชิ้นงานนวัตกรรมเกษตรหรือนวัตกรรมอาหารที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวส่งผลให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร(PLOs) โดยเฉพาะประเด็นที่นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะปฏิบัติในการสร้าง นวัตกรรมเกษตรและอาหารได้

ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน กล่าวว่า นักศึกษานำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมเกษตร กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ คือ ขั้นตอนที่ 5 Test (ทดสอบ) ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ โดยนักศึกษาได้นำต้นแบบเครื่องหยอดเมล็ดข้าวที่พัฒนาขึ้น มาทดสอบในสภาพการทำงานจริงของเกษตรกร พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากเกษตรกร และนำไปแก้ไขปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องหยอดเมล็ดข้าวสร้างจากเศษวัสดุเหลือใช้ ส่วนหลักในการทำงานของเครื่องนั้นนักศึกษาไม่ได้คิดค้นเองหรือสร้างเองใหม่ทั้งหมด แต่นำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงโดยปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นและเหมาะกับบริบทของชุมชน

ด้าน ผศ.ดร. ธิติมา พานิชย์ กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมอาหารนั้น วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดรำแดงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ เนื่องจากต้องการจัดทำผลิตภัณฑ์จากเห็ดนางฟ้าให้มีความหลากหลายและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นทางกลุ่มได้ทดลองพัฒนาสูตรโดยใช้ผงปรุงรสกิมจิ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีกลิ่นรสกิมจิที่อ่อนเกินไป ทำให้ขาดเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ จากปัญหาดังกล่าว นักศึกษากลุ่มที่ 2 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาสูตรในการหมักกิมจิเห็ดให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยนำเห็ดนางฟ้ามาลวกคลุกเคล้ากับกระเทียมสับ ขิงสับ ต้นหอม แครอท โคชูจังพริกเกาหลี และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ หมักที่อุณหภูมิห้องนาน 1 คืน จะได้กิมจิที่มีรสเปรี้ยวพอดี

จากนั้นนำกิมจิเห็ดนางฟ้าที่หมักได้ที่มาผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตข้าวเกรียบเห็ด โดยใช้สูตรข้าวเกรียบพื้นฐานเป็นสูตรของทางวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารในครั้งนี้ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดคือ ผลิตภัณฑ์กิมจิเห็ดนางฟ้า และ ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบเห็ดรสกิมจิ สามารถช่วยให้สถานประกอบการมีผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน

การลงพื้นที่ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนของคณะเทคโนโลยีการเกษตรในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน