มรภ.สงขลา นำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช เรียนรู้กระบวนการผลิต เก็บรักษา และตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวพร้อมรับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีการเกษตร ศึกษาเรียนรู้วิธีการผลิต การเก็บรวบรวมรักษา และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย และเมล็ดพันธุ์ขยาย ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง โดยได้รับการต้อนรับจาก นายสุเมธ ทองฤทธิ์นุ่น เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน นางสาวบุปผารัฐ รอดภัย นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และ นายจีรพัฒน์ จูดคง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ซึ่งมีนางสาววิภาดา เพชรรักษ์ ผู้ช่วยปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพ ศิษย์เก่าสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ทำงานอยู่ที่ด้วย ถือเป็นการบูรณาการการเรียนในรายวิชาปฏิบัติการการผลิตเมล็ดพันธุ์ ในการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน
ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน กล่าวว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นขั้นตอนสำคัญในการเกษตรกรรมข้าว ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนอกจากต้องเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ห่างจากแปลงข้าวพันธุ์อื่นแล้ว ควรใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการปฏิบัติตามหลักการปลูกข้าวที่ดี เช่น การเตรียมดิน การให้น้ำ การจัดการปุ๋ย ควบคุมวัชพืชและโรคแมลงอย่างมีประสิทธิภาพ ตัดข้าวปน (roguing) เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ และเก็บเกี่ยวในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม
ด้าน นายสุเมธ ทองฤทธิ์นุ่น กล่าวว่า ในส่วนของการผลิต การเก็บรักษา และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นเมล็ดพันธุ์คัด มีขั้นตอนสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม การเตรียมดินและปลูกตามหลักวิชาการ รวมทั้งดูแลรักษาอย่างดีตลอดฤดูปลูก ไปจนถึงเก็บเกี่ยวในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม และเมื่อมาถึงช่วงการเก็บรักษา ควรทำความสะอาดและคัดแยกเมล็ด ลดความชื้นให้เหลือประมาณ 12-14% บรรจุในภาชนะที่ป้องกันความชื้นและแมลง เก็บในโรงเก็บที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ จากนั้นมีการตรวจสอบคุณภาพ โดยตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรม การทดสอบความงอก การตรวจหาสิ่งเจือปน และการควบคุมความชื้นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นางสาวบุปผารัฐ รอดภัย กล่าวเสริมว่า การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ การทำความสะอาดเมล็ด โดยกำจัดสิ่งเจือปน เศษวัสดุ เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ และลดความชื้นทำให้เมล็ดมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งต้องเก็บรักษาและคัดแยกเมล็ดตามขนาดเพื่อความสม่ำเสมอ อาจมีการคลุกสารเคมีป้องกันเชื้อราหรือแมลงตามความจำเป็น และบรรจุในภาชนะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความชื้นและแมลง ส่วนสำคัญคือ ติดฉลากระบุข้อมูลสำคัญ เช่น พันธุ์ข้าว วันที่ผลิต และอัตราความงอก ขั้นตอนเหล่านี้ช่วยให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
นอกจากนั้น นายจีรพัฒน์ จูดคง ได้อธิบายให้นักศึกษาทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย รวมถึงการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย (Extension Seed) คือการใช้เมล็ดพันธุ์คัดหรือพันธุ์หลักเป็นต้นพันธุ์ ปลูกในแปลงที่แยกโดดเด่น ห่างจากพันธุ์อื่น มีการตรวจสอบและคัดต้นที่ไม่ตรงตามพันธุ์ออกควบคุมวัชพืชและโรคแมลงอย่างเข้มงวด เก็บเกี่ยวและนวดด้วยความระมัดระวัง
สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย (Commercial Seed) จะใช้เมล็ดพันธุ์ขยายเป็นต้นพันธุ์ ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการแยกแปลง ดูแลรักษาตามหลักวิชาการ และตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม ส่วนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ควรทำความสะอาด แยกสิ่งเจือปน คัดขนาดให้สม่ำเสมอ และบรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สุดท้ายคือการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางกายภาพ ทดสอบความงอก วิเคราะห์ความแข็งแรง ตรวจหาเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดและประเมินความชื้น