วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา เปิดเวทีสัมมนาและบรรยายพิเศษ “การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ วิกฤตอุดมศึกษาไทยและทางออก”

มรภ.สงขลา จัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ “การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ วิกฤตอุดมศึกษาไทยและทางออก” เทียบเชิญวิทยากรร่วมถ่ายทอดความรู้ มุ่งพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ค้นหาจุดเด่นด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาท้องถิ่น นำไปต่อยอดในการดำเนินงาน พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ และวิกฤตอุดมศึกษาไทยและทางออก” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนให้พร้อมรองรับการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิกฤตอุดมศึกษาไทยและทางออก ให้กับบุคลากรสายวิชาการและบุคลากรสายสนับสนุน ตลอดจนเพื่อค้นหาจุดเด่นด้านการศึกษา จุดเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม และจุดเด่นด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้มหาวิทยาลัย สำหรับนำไปต่อยอดในการดำเนินการ SKRU Transformation ต่อไป และเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาให้ก้าวทันโลก

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสัมมนา เรื่อง “ค้นหาจุดเด่นด้านการศึกษา จุดเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม และจุดเด่นด้านการพัฒนาท้องถิ่น” และ การสัมมนา เรื่อง “การจัดการศึกษารูปแบบใหม่” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานร่วม สมาคมสหกิจศึกษาโลก นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และ น.ส.ภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากร

นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “วิกฤตอุดมศึกษาไทยและทางออก” โดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมฟังกว่า 300 คน ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ รวมไปถึงการหาทางออกเกี่ยวกับวิกฤตอุดมศึกษาไทย
จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและการสืบค้นด้วยตนเอง มากกว่าการใช้บุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้มาเป็นผู้กำกับดูแลและให้คำปรึกษาการสืบค้นข้อมูล การใช้ข้อมูลที่เหมาะสม การเรียนรู้จะอาศัยการศึกษาจากสภาพจริงของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเรียนรู้ในชั้นเรียน การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ใช้เทคโนโลยี ข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรม สังคมจะปรับตัวตามเทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาในอนาคตจึงต้องปรับตัวตามเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประเทศไทย 4.0 และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความรับผิดชอบ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น มีความสามารถในการทำงาน แก้ไขปัญหา และแข่งขันทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น