นักศึกษา มรภ.สงขลา โชว์ผลงานพัฒนานกกระทาแช่แข็งพร้อมปรุง ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน อ.สิงหนคร คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น พร้อมเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันระดับประเทศ
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีนำเสนอผลงานของนักศึกษาโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา ว่า งานศูนย์เครื่องมือกลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น จำนวน 7 ทีม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตร และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลปรากฏว่าทีมนักศึกษาในนาม Food and design 0kdกลุ่มแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ่อเตี้ยฟาร์มนกกระทา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งขันในระดับประเทศ นอกจากจากนั้น ยังมีทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล คือ กลุ่มไข่เค็มกะทิสดใบเตย ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา กลุ่มแม่บ้านเกาะแต้ว หมู่ 6 ต.เกาะแต้ว และ กลุ่มขนมเปี๊ยะ บ้านท่าขาม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า โครงการที่จัดขึ้นนี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ประกอบ OTOP สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มของนักศึกษา การทำงานต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะเป็นแนวทางก่อเกิดการพัฒนาศักยภาพเมื่อออกสู่ตลาดแรงงาน นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของรากฐานสังคมจากพื้นฐานความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนถือเป็นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องผนึกกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานความพอดีภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน เพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการ ส่งเสริมการจ้างงาน โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรอย่างเดียว แต่เพื่อแก้ปัญหาพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์สถาบัน สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นเป็นการบูรณาการภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถและคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น เกิดผลที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันนักศึกษาของ มรภ.สงขลา ที่เข้าร่วมโครงการเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในวิถีชีวิตเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่า เพื่อจะช่วยกันจรรโลงรักษาให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาได้ตระหนัก และรู้จักการรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติ