วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา ชวนอบรมดนตรีในชั้นเรียนสำหรับครูอนุบาล-ครูประถม-ครูมัธยมศึกษา

คณะศิลปกรรมฯ มรภ.สงขลา ชวนสมัครเข้าร่วมอบรมดนตรีและการบูรณาการดนตรีในชั้นเรียน สำหรับครูอนุบาล ครูประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษา ครั้งที่ 2 ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท อัดแน่นสาระความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติ Body Percussion การแต่งเพลงเบื้องต้นสำหรับครู ทักษะการขับร้อง การแสดงดนตรี สมัครได้แล้ววันนี้-27 มี.ค.67

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการหลักสูตรระยะสั้น “อบรมดนตรีและการบูรณาการดนตรีในชั้นเรียน สำหรับครูอนุบาล ครูประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมจรินทร์ ชาติรุ่ง อาคาร 58 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ค่าลงทะเบียนคนละ 2,500 บาท (ชำระภายในวันที่ 27 มีนาคม 2567) บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี : มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่บัญชี : 901-6-05971-7 วิทยากรโดย ดร.สุทธิรักษ์ เอียดปุ่ม ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช และ ดร.สิทธิโชค กบิลพัตร อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา

โครงการที่จัดขึ้นในครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาทางด้านการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และตระหนักถึงความสำคัญของการนำดนตรีและศาสตร์ทางด้านศิลปะมาบูรณาการกับการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความสุข ความรักสามัคคีและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้เรียนในท้องถิ่น กิจกรรมการอบรมประกอบด้วย ฝึกปฏิบัติการในหัวข้อ ดนตรีกับการเคลื่อนไหว, Body Percussion, การแต่งเพลงเบื้องต้นสำหรับครู, ทักษะการขับร้อง, ทักษะการแสดงดนตรี และ สัมมนาการบูรณาการดนตรีในชั้นเรียน

ดร.สุทธิรักษ์ เอียดปุ่ม รองคณบดีฝ่ายนโยบาย แผนงานและการประกันคุณภาพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนที่นำศาสตร์ทางด้านดนตรีมาบูรณาการในการเรียนการสอนในชั้นเรียน นอกจากจะเป็นสื่อและกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย และมีความสุขสนุกสนานในการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางด้านศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ มีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกได้ในหลายๆ แบบ เช่น ทางดนตรี การเคลื่อนไหว และงานศิลปะอื่น ๆ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนานักเรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษา พัฒนาตนเอง สังคมและพัฒนาประเทศชาติ

การศึกษาองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านดนตรีให้มีความกระจ่างมีความลึกซึ้ง เกิดเจตคติที่ดีต่องานศิลป์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครู บุคลาการทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป เพี่อจะนำเอาองค์ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและคุณภาพที่ดีมีความสุขให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นต่อไป