วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ออกภาคสนามพัฒนาสุขภาพชุมชน “ฅนบ้านในปง” จ.ตรัง ผนึกภาคีเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งทางวิชาชีพ

16 มี.ค. 2020
932

หลักสูตรสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา นำนักศึกษาออกภาคสนามพัฒนาสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 16 บ้านในปง จ.ตรัง มุ่งเน้นบริการวิชาการในสถานการณ์จริง พร้อมผนึกภาคีเครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาชีพ

ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการออกภาคสนามพัฒนาสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 16 “พัฒนาสุขภาพชุมชน ฅนบ้านในปง” ณ หมู่ที่ 3 บ้านในปง และเขตพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต.บ้านในปง ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ในการพัฒนาสุขภาพชุมชนและจัดบริการวิชาการในสถานการณ์จริง ทำให้ได้ผลการศึกษาสุขภาวะชุมชนที่สามารถใช้เป็นแนวทางและทิศทางพัฒนาสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมภาคใต้ ตามแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) สำหรับแนะนำและสอนนักศึกษาที่จะออกฝึกประสบการณ์ทางสาธารณสุขศาสตร์ นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากการทำงานจริงในขอบเขตวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันทางวิชาชีพระหว่างหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
                ดร.วรพล กล่าวว่า การออกภาคสนามพัฒนาสุขภาพในครั้งนี้ นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 ภาคปกติ จำนวน 66 คน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ สำรวจสภาวะชุมชนแบบเร่งด่วนพร้อมทำแผนที่เดินดิน จัดเก็บข้อมูลวิจัยการพัฒนารูปแบบการประยุกต์การละเล่นและกีฬาพื้นบ้านตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ออกให้บริการสุขภาพคัดกรองการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตรกรในเลือด ในหมู่บ้านเขตรับผิดชอบของ รพ.สต.ในปง และบริการงานอนามัยโรงเรียน จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ให้โลกตามที่แกนนำชุมชนชี้จุดปลูก จัดห้องสมุด/ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการรู้เท่าทันทางสุขภาพในโรงเรียน จัดนิทรรศการการจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่คงสุขภาวะชุมชนไว้ได้อย่างยั่งยืน และ นิทรรศการมหกรรมพัฒนาสุขภาพชุมชน เวทีประชาคมเพื่อคืนข้อมูลและรับฟังเสียงประชาชน ประเด็นการพัฒนาสุขภาพชุมชนบ้านในปง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักศึกษานำความรู้ ความคิดรวบยอด และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในการฝึกประสบการณ์ทางสาธารณสุขศาสตร์ และการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ