วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

มหาวิทยาลัยทักษิณเปิดพื้นที่ให้ชุมชน สร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่

มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดพื้นที่ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ทำการเกษตร ส่งเสริมให้ครัวเรือนใกล้มหาวิทยาลัยสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน นำร่องปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วหรั่ง ผักบุ้ง พริก ผักกาดขาว และมะพร้าวน้ำหอม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พัฒนาทุนด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และให้มหาวิทยาลัยเป็นสะพานเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ด้วยอีกทาง

แนวความคิดเปิดพื้นที่สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนนั้น มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ดำเนินการขึ้นโดยการสานพลังการขับเคลื่อนกับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งสนับสนุนโครงการวิจัยโดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. ร่วมการทำงานกับอำเภอป่าพะยอม และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง ในการส่งเสริมให้ครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเกษตรภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยจำนวน 20 ครัวเรือนเพื่อสร้างแหล่งอาหารด้านการเกษตร พัฒนาทุนด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนได้ โดยใช้พื้นที่บริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จำนวน 5 ไร่ เป็นพื้นที่นำร่องปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วหรั่ง ผักบุ้ง พริก ผักกาดขาว และมะพร้าวน้ำหอม

โดยช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเกษตรเป็นครั้งแรก กลุ่มเกษตรกรร่วมให้การต้อนรับนางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง นายโยฮัน เบ็ญฮาวัน นายอำเภอป่าพะยอม และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่เพาะปลูกและเป็นเกียรติเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง มะเขือ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผลผลิตที่ได้บางส่วนกลุ่มเกษตรกรได้นำไปบริโภคเป็นอาหารภายในครัวเรือน อีกส่วนมีการแบ่งปันให้นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยนำไปบริโภค และส่วนที่เหลือได้นำมาจำหน่าย ณ ตลาดริมชล มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้แบรนด์ของกลุ่ม LanYo TSU สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ้งด้วย ซึ่งขณะนี้หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดรุ่นแรกไป ทางกลุ่มได้เริ่มดำเนินการปรับดินเพื่อดำเนินการปลูกผลผลิตในรุ่นสองต่อไป

หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการคือ มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นสะพานเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและกลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ระดับชุมชน อำเภอป่าพะยอม และจังหวัดพัทลุง ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 ที่เน้นเรื่องการขจัดความหิวโหย และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารในท้องถิ่นได้เข้ามาเพาะปลูกสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สร้างแหล่งอาหารที่ทำให้ผู้บริโภคไว้ใจได้และช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือน