วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

ชมรมวิถีพุทธ มรภ.สงขลา สืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ส่งเสริมนักศึกษาเห็นคุณค่าประเพณีท้องถิ่นภาคใต้

ชมรมวิถีพุทธ มรภ.สงขลา จัดงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ส่งเสริมนักศึกษาเห็นถึงคุณค่าประเพณีอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ชมรมวิถีพุทธ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการจัดงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ประจำปี 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา โดยมี อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าประเพณีบุญสารทเดือนสิบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ อันเป็นการสืบทอดประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของประชาชนในท้องถิ่นภาคใต้สู่คนรุ่นหลังสืบไป

ภายในงานมีกิจกรรมทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษ และการสมโภชหมฺรับ และกิจกรรมการแสดงขนมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ได้แก่ ขนมต้ม ขนมเจาะหู ขนมบ้า ขนมพอง ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมทำขนม สร้างความสนุกสนานและอิ่มบุญกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ คำว่า “สารท” มาจากภาษาบาลี แปลว่า “ฤดู” ซึ่งฤดูสารทนี้เป็นฤดูที่พืชผักผลไม้ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี เริ่มออกผล เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผู้ที่ต้องการให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของตนเจริญงอกงามดี ก็ได้นำพืชพันธุ์เหล่านั้นไปถวายสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ คนสมัยโบราณมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรกให้แก่ผีสาง เทวดา เพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาได้รับเอาความเชื่อในศาสนาพราหมณ์อินดูและศาสนาพุทธ จึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา ประเพณีสารทได้เปลี่ยนความเชื่อถือไปตามกาลเวลาและความเชื่อในท้องถิ่นต่าง ๆ บางแห่งเชื่อว่าการทำบุญวันสารทก็เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษและ ผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งเป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างภารกิจไร่นา จึงถือโอกาสทำบุญครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว