วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ลงพื้นที่ติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายพิเศษของรัฐบาลด้านการศึกษา ในพื้นที่ชายแดนใต้

24 ก.พ. 2020
804

ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายพิเศษของรัฐบาลด้านการศึกษา และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จากการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 1/2563

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ นายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษฯ ด้านการศึกษา และ ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมติดตามผลการขับเคลื่อนตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลด้านการศึกษา และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จากการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 1/2563 ในระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมทั้งลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ดิจิทัลชุมชนและศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. ONIE Online Commerce Center (OOCC) ณ กศน.ตำบลบ่อทอง จังหวัดปัตตานี และโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ณ โรงเรียนบ้านกระอาน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

โดยในระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และคณะทำงาน ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารการศึกษา ตัวแทนผู้บริหารการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อรับฟังการรายงานข้อมูลผลการจัดการศึกษา และหารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้

ประเด็นด้านการจัดการศึกษาของอาชีวะ และ กศน.

ได้แก่ การเรียนสาขาอาชีพที่มีงานทำ, การทำงานกับเครื่องจักรกล และหุ่นยนต์, การส่งเสริมการค้าออนไลน์ และ E-commerce “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”, การติดตามนำเด็กนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา

จากการประชุมพิจารณาประเด็นดังกล่าว ได้มีข้อสั่งการให้มีการดำเนินการสำรวจตลาดแรงงานในพื้นที่ ที่เป็นปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อกำหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ให้นักเรียนมีงานทำเมื่อเรียนจบ สำหรับประเด็นการทำงานกับเครื่องจักรกล และหุ่นยนต์ ให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดแรงงานด้านดังกล่าวเพิ่มเติม ประกอบกับต้องสร้างทัศนคติที่ดีในการออกไปทำงานนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมการค้าออนไลน์ และ E-commerce “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ให้มีการจัดทำข้อมูล มูลค่าของสินค้าที่เกิดจากการค้าออนไลน์ และประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ช่วยดูแล และบริหารการค้าออนไลน์ นอกจากนี้มอบหมายให้ดำเนินการติดตาม สำรวจ นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ที่ตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ป้องกันปัญหานักเรียนซ้ำซ้อน

ประเด็นด้านการจัดการศึกษาในโรงเรียนของ สพฐ และ สช.

การสร้างโอกาสทางการศึกษาตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้, โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล, การพัฒนาครูและการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)

โดยได้ติดตามการนำนักเรียนเปิดโลกทัศน์นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในประเด็นแรก ให้มีการปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น พร้อมกับผลักดันให้ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน ท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ และให้มีการบริหารจัดการที่ชัดเจนสำหรับโรงเรียนที่ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มากกว่า 1 โครงการ ในโรงเรียนเดียวกัน รวมทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถระหว่างโรงเรียนในโครงการด้วยกัน พร้อมทั้งให้จัดทำ Education Mapping เพื่อประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นเอกภาพ เป็นรูปธรรมชัดเจน จัดลำดับความต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วนของสถานศึกษา

สำหรับประเด็นการพัฒนาครูและการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานทางการศึกษาในการพัฒนาครูทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นภาพรวมของการพัฒนาครูทุกสังกัด และสุดท้ายให้แสวงหาโอกาสนำนักเรียนเปิดโลกทัศน์นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ผลการรายงาน ฯ จากการประชุม จะนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในการพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถตอบสนองต่อตัวผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในการเลี้ยงชีพของตนเองต่อไปในอนาคต