วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา พัฒนาต้นแบบธนาคารปูม้า หนุนชุมชนบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว ทำประมงเชิงอนุรักษ์

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ชุมชนบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว หนุนทำประมงเชิงอนุรักษ์ พัฒนาต้นแบบธนาคารปูม้าในรูปแบบคอนโดปู เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก เสริมความมั่นคงทางทรัพยากร

วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2566 ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นำคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา จัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับชุมชนฐานราก ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ในกิจกรรม “ชุมชนต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 4” และกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาธนาคารปูม้าโดยการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้าน” เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการสร้างธนาคารปูสู่การอนุรักษ์พันธ์ปูม้า ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ การรวบรวมไข่ และการอนุบาลลูกปู วิทยากรโดย นายชำนาญ มานิล ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา การฝึกปฏิบัติการการจัดการคุณภาพแหล่งน้ำเพื่อการเจริญของปู โดย ผศ.คุลยา ศรีโยม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ต้นทุน การจัดเก็บข้อมูลรายได้ เสริมสมรรถนะนวัตกรชุมชน โดย ดร.ผจงจิต พิจิตบรรจง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ โดยมีผู้นำชุมชน รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว ชาวประมงในพื้นที่ และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม

ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงน้อมนำหลักการทรงงานของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับรายได้ของประชาชน แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (2560-2579) ที่มุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชน

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา มีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างรายได้ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ทั้งนี้ ทางคณะฯ ได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้บุคลากร นักวิชาการที่มีศักยภาพในแต่ละศาสตร์สาขาไปร่วมให้บริการวิชาการแก่ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก และหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งชุมชนต้นแบบที่ทางคณะฯ ได้ให้บริการวิชาการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 คือ ชุมชนเกาะแต้ว โดยในปี พ.ศ.2566 ได้ขยายพื้นที่บริการวิชาการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่การเป็นชุมชนต้นแบบไปยังบ้านบ่ออิฐ หมู่ 8 ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา

ด้าน ผศ.คุลยา ศรีโยม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำประมงเชิงอนุรักษ์โดยการสร้างต้นแบบธนาคารปูม้าในรูปแบบคอนโด รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ ซึ่งบ้านบ่ออิฐเป็นชุมชนที่ทำประมงพื้นบ้าน คนในชุมชนบริโภคอาหารที่ได้จากการประมง และถนอมอาหารไว้รับประทานหรือเพื่อขาย เช่น ทำปลาเค็ม ปลาตากแห้ง มีวิถีชีวิตที่เน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม จากการให้ข้อมูลของกลุ่มชาวประมงในพื้นที่พบว่า กลุ่มประมงบ้านบ่ออิฐจำนวนไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายปูม้าลดลงจาก 500 บาทเหลือเพียง 300 บาทต่อวัน อันเนื่องมาจากปริมาณปูในพื้นที่ลดลงเป็นอย่างมาก

ดังนั้น นอกจากการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงวิธีการจับสัตว์น้ำแบบผิดวิธี ไม่จับในช่วงวางไข่ หรือไม่ใช้เครื่องมือต้องห้ามแล้ว ควรสร้างจิตสำนึกในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ จัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นายยุดี หมัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 มุ่งหวังให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงด้วย จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นจุดกำเนิดให้คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมที่ยังคงคำนึงถึงผลลัพธ์ด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนด้านวิชาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรที่มี  จึงนำมาสู่การจัดกิจกรรมในครั้งนี้