วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

“พลเอก ดาว์พงษ์” องคมนตรี ตรวจเยี่ยม มรภ.สงขลา ติดตามผลการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์ ฯ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมลงพื้นที่ ต.เกาะยอ เยี่ยมชมผลงานบริการวิชาการ 5 โครงการเด่น

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน มรภ.สงขลา โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  พร้อมลงพื้นที่ ต.เกาะยอ เยี่ยมชมผลงานบริการวิชาการ 5 โครงการเด่น

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เดินทางมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของ มรภ.สงขลา ณ ห้องประชุม พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 7 อาคารอำนวยการ 48 โดย พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุป “การดำเนินงานการพัฒนาท้องถิ่น” จาก รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา และการบรรยายสรุปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาครู โดย ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของคณะต่างๆ โดยคณบดีแต่ละคณะ และการบรรยายสรุป “โครงการพัฒนา Soft Skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม” ซึ่งมีตัวแทนนำเสนอเรื่อง “ถังน้ำวิศวกรสังคม ปันน้ำ ปันสุข สู่ชุมชน ตำบลท่าหิน” อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และ “วิศวกรสังคมร่วมดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศบ้านบ่ออิฐ” อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

นอกจากนั้น พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของ มรภ.สงขลา ซึ่งจัดแสดงผลงาน และสาธิตการนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นของตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานโครงการพระบรมราโชบาย ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงาน 5 โครงการเด่นที่หน่วยงานได้ลงพื้นที่ให้บริการวิชาการ ได้แก่ 1. โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดภูมิปัญญา (University as Marketplace) ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และ จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบหลักโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา 2. โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  3. โครงการชุมชนต้นแบบยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 4 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  4. โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยว วิถีชุมชนปีที่ 4 ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล รับผิดชอบหลักโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ 5. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเกษตรพอเพียง อยู่ดี มีสุข พื้นที่ตำบลทุ่งลาน ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา รับผิดชอบหลักโดย คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ทั้งนี้ มรภ.สงขลา ได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีส่วนช่วยในการใช้องค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในทุกมิติ มีทักษะการประยุกต์ใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าช่วยส่งเสริมอาชีพของชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนให้เข้มแข็ง อันเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งหมายให้มหาวิทยาลัย    ราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ ประสานพลังและศักยภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

หลังจาก มรภ.สงขลา ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นำสู่การปฏิบัติจริง ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น การผลิตครู การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ โดยบูรณาการงานวิจัยและเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาตามความต้องการของท้องถิ่น ทำให้ชุมชนมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ มีงานทำ และเป็นพลเมืองดีมีวินัย ด้วยการพัฒนาด้วยองค์ความรู้อย่างยั่งยืนยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้ครัวเรือนยากจน และรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย และยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา