วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ลงพื้นที่จัดทำแผนชุมชน สร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่าย 7 คณะ 7 ชุมชนต้นแบบ เดินหน้าโครงการพระราโชบายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สงขลา-พัทลุง-สตูล

คณะมนุษยศาสตร์ฯ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงพื้นที่จัดทำแผนชุมชนเครือข่าย ต.ทุ่งลาน ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง และ ชุมชนต้นแบบ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา ระดมสมองร่วมค้นหาสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น ความโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปูทางสู่ทำเนียบคลังสมองภาคีเครือข่ายพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงพื้นที่จัดทำแผนชุมชนเครือข่าย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ 3 การจัดทำแผนชุมชน ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่าย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขล” ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง และ สตูล ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค เสริมสร้างพลังทางสังคม ที่มีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา เป็นแม่งานใหญ่ ในการร่วมกับคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ดำเนินงานพัฒนาสร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่าย 7 คณะ 7 ชุมชนต้นแบบ

ทั้งนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร นำโดย ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ณิศา มาชู และ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร พร้อมด้วยตัวแทนสมาชิกกลุ่มภาคีเครือข่ายของ ต.ทุ่งลาน และ ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมจัดทำแผนเครือข่ายชุมชนของทั้งสองตำบล ณ ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 5 ต.โคกม่วง ในการพัฒนาศักยภาพกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่าย โดยกิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ด้านการจัดทำแผนชุมชนคือ ผศ.ณัฏฐาพงศ์ อภิโชติเดชาสกุล อ.กัลยาภัสร์ อภิโชติเดชาสกุล ดร.ธวัชชัย ศรีพรงาม และ อ.โสภิดา ขาวหนูนา เป็นวิทยากรจัดทำแผน ส่วนคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมลงพื้นที่ชุมชนต้นแบบเกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เพื่อพัฒนาและจัดทำแผนชุมชน ในประเด็นหลักด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ชุมชนกำลังเขียนแผนเพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบ โดยจะมีการติดตามแผนอีกครั้งในเร็ววันนี้

สำหรับกิจกรรมที่ 3 นี้เป็นการ SWOT (การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค) โดยมีกระบวนการดำเนินงานจัดทำแผนชุมชนสำหรับชุมชนต้นแบบ จากวัตถุประสงค์หลักคือ ความจำเป็น ทิศทาง และแนวโน้มการจัดทำแผน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผน พร้อมเสวนากับวิทยากรกลุ่มย่อยการทำ SWOT “ของดีกับความกังวลใจ” ของชุมชนที่มีต่อประเด็นการทำแผน การเฟ้นหาจุดแข็ง & จุดอ่อน การ Grouping ให้ได้ประเด็นสำคัญ อะไรที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น วิเคราะห์โอกาสและ อุปสรรคของชุมชนที่มีต่อประเด็นการทำแผน ที่ทำให้งานนั้นเดินต่อไปไม่ได้

การจัดงานเพื่อระดมสมองช่วยกันหาคลังของดีของเด่น ศิลปวัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณี สถานที่อนุรักษ์ ความโดดเด่นของพื้นที่ ภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ภูมิปัญญา สมุนไพร เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่าตามความต้องการของพื้นที่ พร้อมทั้งยกระดับพัฒนาองค์ความรู้ ค้นหาจุดแข็งของท้องถิ่น สินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อจัดทำทำเนียบคลังสมองภาคีเครือข่ายการพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราโชบาย มรภ.สงขลา ในพื้นที่ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.สตูล ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 คณะฯ ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนมานานหลายปี และจะเดินหน้าพัฒนาชุมชนต่อไปตามเจตนารมณ์ของ มรภ.สงขลา ในการเป็นมหาวิมยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น