วันพฤหัสบดี, 31 ตุลาคม 2567

53 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณ ก้าวสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม (University of Social Innovation) จาก วศ. สงขลา สู่ มศว และ มหาวิทยาลัยทักษิณ 2 วิทยาเขต

วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ ตําบลเขารูปช้าง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตามมติสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา” ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้มีมติกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลาใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้”

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2547 เริ่มเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตพัทลุง ณ ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ จัดการเรียนการสอนในพื้นที่ 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง  จำนวน 14 คณะ ได้แก่ 1) คณะศึกษาศาสตร์ 2) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3) คณะวิทยาศาสตร์ 4) คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 5) คณะศิลปกรรมศาสตร์ 6) คณะนิติศาสตร์ 7) คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา 8) คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน 9) คณะวิศวกรรมศาสตร์ 10) คณะพยาบาลศาสตร์ 11) คณะอุตสาหกรรมการเกษตรและชีวภาพ 12) วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา  13) บัณฑิตวิทยาลัย 14) วิทยาลัยนานาชาติ

มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ มาอย่างยาวนานกว่า 53 ปี วันที่ 1 ตุลาคม เป็น “วันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ  เป็นมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของประเทศที่ผ่านการประเมินเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ EdPEx 200 และมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) 2021 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในระดับ A  เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับจากสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่มีชื่อเสียง อาทิ การจัดอันดับนักวิจัยที่มีศักยภาพ ระดับมหาวิทยาลัย ระดับประเทศ และระดับโลก จากฐานข้อมูล AD Scientific Index 2021 World Scientist and University Rankings 2021, พัฒนามหาวิทยาลัยสู่ Green University มหาวิทยาลัยสีเขียว UI Green Metric

ท่ามกลางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก มทษ. จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ คิดใหม่ ทำใหม่  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมถึงโรคอุบัติใหม่ รองรับความท้าทายในทุกรูปแบบ ภายใต้นโยบาย “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม” University of Social Innovation สอดรับกับนโยบายของประเทศ โดยการนำของรองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สนองตอบโจทย์ท้าทายสําคัญของประเทศในการพัฒนาคน เพื่อสร้างองค์ความรู้ สู่การต่อยอดนวัตกรรม และปรับบทบาทมหาวิทยาลัยผ่านการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจกลุ่มมหาวิทยาลัย เปลี่ยนหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งจัดระบบ และการบริหารจัดการให้พร้อมปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

สร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการและการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประะโยชน์

ปัจจุบัน มทษ. เน้นการผลิตผลงานวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ การนำทรัพย์สินทางปัญญาออกสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแบบครบวงจร สร้างบัณฑิตที่มีความพร้อมด้านวิชาการ วิชาชีพ มีความสามารถด้านนวัตกรรม และทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งการเรียนการสอนแบบ On-site, Online ที่นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา2019 (COVID-19) ที่ต้องจัดการเรียนการสอนและการสอบในรูปแบบ Online เพื่อความปลอดภัยของนิสิตและบุคลากร นอกจากนี้ยังขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพานิชย์ เช่น การนำผลงานวิจัยและอนุสิทธิบัตรนวัตกรรมกรีนซิลเวอร์นาโนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เคลือบซิลเวอร์นาโน TSU Nano Mask  ที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้าน และลดการติดเชื้อโรคจากแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส

มีการจัดตั้งสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มทษ. เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาความเป็นเลิศด้านผู้ประกอบการสำหรับบุคลากรและนิสิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยการบ่มเพาะให้ความรู้ เข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างช่องทางส่งเสริมการตลาด ให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ SME ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ มทษ. ได้สนับสนุนภารกิจทางการแพทย์และช่วยบรรเทาสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในลักษณะ Hospitel  โดยใช้อาคารที่พักและประชุมสัมมนาของสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง พื้นที่ขยายพนางตุง  มาตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564  พร้อมจัดตั้งชุมชนเกื้อกูล (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่รอการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ด้วย

ร่วมสู้โควิค -19 ด้วยนวัตกรรม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก

ทันทีที่มีการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก คณะและส่วนงานในมหาวิทยาลัย ได้ปฏิบัติการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้สู่ชุมชน/สังคมอย่างหลากหลาย อาทิ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ผลิตเจลล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล แจกจ่ายให้แก่ประชาชน หน่วยงานรัฐ และเอกชน เปิดให้บริการ “หน่วยพัฒนาการแปรรูปและนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตร  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สร้างเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา พัฒนารูปแบบการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ  “โปรแกรมไอ้เท่ง” คณะนิติศาสตร์ จัดตั้งศูนย์นิติศาสตร์ชุมชน ในการให้คำปรึกษาปัญหาด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  คณะศิลปกรรมศาสตร์ ใช้แนวคิดและเครื่องมือทางศิลปะผลิตเพลง “กำลังใจต่อกัน (หัวใจข้ามฝ่า)” และเพลง “ใจหนึ่งเดียว”  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดทำโครงการบันทึกประวัติศาสตร์โควิด-19 สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน (สสช.) จัดทำโครงการบริการความรู้สู้โควิด-19 ด้วยภูมิปัญญาใต้ เป็นต้น 

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของการแพร่ระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้อนจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับ จึงประกาศลดค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตให้แก่นิสิตสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมทั้งลดค่าเช่าพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย

มทษ.ได้จัดทำโครงการ “อาสาสมัครชุมชน” สู้ภัยโควิด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานรากที่เชื่อมโยงกับการจ้างงานระยะสั้น ระยะกลาง การพัฒนาทักษะสำหรับการประกอบการใหม่ (Reskill Upskill) และการพัฒนาชุมชน สังคมฐานราก จากงบประมาณของกระทรวง อว. จำนวนกว่า 39 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงาน ใน 166 ตำบล ของจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช, โครงการ “นวัตกรชุมชน” มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นโครงการภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (TSU-2T) โดยงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวง อว. จำนวน 212 ล้านบาท สำหรับจ้างงาน จำนวน 1,300 อัตรา เป็นเวลา 11 เดือน เพื่อทำหน้าที่ร่วมกับชุมชนในการสำรวจปัญหาความต้องการด้านการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ 

มทษ.ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นพลเมืองที่เรียกว่า “พลเมืองทักษิณ”  ช่วยเหลือ เกื้อกูลและร่วมแก้ปัญหา ด้วยการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาล อาหารและของใช้จำเป็นสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย การรับบริจาคเพื่อผลิตเจล สเปรย์แอลกอฮอล์ สำหรับแจกจ่ายประชาชน การจัดทำโครงการ “อาสาสมัครระยะไกลสู้ภัยโควิด-19”  (TSU Distance Volunteers) ชวนบุคลากรเป็นอาสาสมัครบรรจุสเปรย์แอลกอฮอล์มิติใหม่ (TSU Alcohol Spray) แจกจ่ายประชาชน โดยรับไปทำงานที่บ้านหรือที่พัก จัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีน ด้วยแคมเปญ “ฉีดกันตะ..ได้มาหนุกกันหลาว (Get the Vaccine to Save Lives) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึง

มหาวิทยาลัยทักษิณ ในย่างก้าวสู่ปีที่ 54 จะยังคงยืนหยัด มุ่งมั่นร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้มีขีดความสามารถในการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนในสังคมวิถี ใหม่ (New Normal) ในประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ ตามธงนำ (Flagships) ในแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม และการริเริ่มใหม่ๆ ด้วยความรู้ นวัตกรรม และการรับฟังเสียงจากสังคม-ชุมชน  ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมแก้ปัญหา และการร่วมสร้างสังคมวิถีใหม่ที่ยั่งยืนต่อไป