วันพุธ, 13 พฤศจิกายน 2567

5 ปี โครงการอนุรักษ์ปะการังทะเลใต้ หรือ Marine Camp คืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่นิเวศใต้ท้องทะเลสตูล

บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอนุรักษ์ปะการังทะเลใต้ (Marine Camp) สำรวจความเสียหายและขยายพันธุ์ปะการังทดแทน บนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร บริเวณแนวปะการังหน้าโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน อ.ละงู จ.สตูล ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อาสาสมัครพิทักษ์ปะการัง (ประเทศไทย) (Reef Guardian Thailand) ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3  จ.ตรัง และหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัดโดยดำเนินกิจกรรมมาตั้งปี 2561-2565 รวมระยะเวลา 5 ปี

นายสยาม สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บมจ.หาดทิพย์ กล่าวว่า “สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมานี้ เราสามารถขยายพันธุ์ปะการังได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 300 ต้น เก็บขยะใต้ทะเลได้กว่า 60 กิโลกรัม และขยะบริเวณชายหาดอีกกว่า 50 กิโลกรัม รวมได้มากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งขยะเหล่านี้จะถูกนำมาแยกประเภทและเข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้องต่อไป และจากกิจกรรมเก็บขยะนี้ทำให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 605.75 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนฯ ของต้นไม้ต่อปี 67 ต้น โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ที่หาดทิพย์มุ่งมั่นทำงานเพื่อท้องทะเล รวมถึงได้มีการสอดแทรกกิจกรรมให้ความรู้เรื่องความสำคัญของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลและการแยกขยะที่ถูกต้องให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง และนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้รับผลตอบรับที่ดีจากชุมชน หน่วยงานภาครัฐ  กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ นักท่องเที่ยว และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ปะการังพันธุ์เขากวางไปได้กว่า 1,500 ต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเติบโตในสภาพพื้นที่ ด้วยวิธีการ Coral Propagation โดยเป็นการนำกิ่งปะการังที่แตกหัก มาติดกับก้อนซากปะการัง (Substage) ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและใช้น้ำยา Catalyst ที่เป็นตัวประสานระหว่างปะการังและ Substage  (ซึ่งคิดค้นโดย Ph.D.Anuar Abdullah, Founder of Ocean Quest Global) อีกทั้งสามารถเก็บขยะใต้ทะเล และขยะชายหาดได้มากกว่า 600 กิโลกรัม

นอกจากนี้เรายังสำรวจพบความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีขึ้นในบริเวณที่ขยายพันธุ์ปะการังอีกมากมาย อาทิ ปะการังวัยอ่อนชนิดต่างๆเข้ามาเกาะจำนวน 5 ชนิด ความชุกชุมของประชากรปลาที่เข้ามาอาศัยในแปลงปลูกปะการัง และบริเวณรอบๆ แปลง และความชุกชุมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ที่เข้ามาอาศัยในแปลงปลูกปะการัง และบริเวณรอบๆ แปลง มีจำนวนอีกทั้งหมด 12 ชนิด และบริษัทฯมีแผนในการติดตามผลการเติบโตของปะการัง พร้อมๆกับเก็บขยะใต้ทะเลร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ปะการัง (ประเทศไทย) (Reef Guardian Thailand) ไตรมาสละ 1 ครั้ง ในปี 2566 พร้อมทั้งมีแผนในการสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA