วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ไพร ชู นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หาดใหญ่เมืองปลอดภาษี (shopping paradise) พร้อมรื้อฟื้นกองทุนส่งเสริมอาชีพ โดยประชาชน เพื่อประชาชน

วันที่18มี.ค.2564 นายไพร พัฒโน ผู้สมัครนายกเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงอนาคตและสถานการณ์ของเทศบาลนครหาดใหญ่ในขณะนี้ว่า สืบเนื่องจากภาวะวิกฤต เศรษฐกิจที่มีอยู่ทั่วโลก ทั้งของเรื่องโควิคในขณะนี้ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า covid มันยิ่งใกล้ตัวเราเข้ามา ในขณะที่สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดก็คือ ในเรื่องของปากท้อง ในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะนั่นคือสิ่งที่คนหาดใหญ่ต้องเผชิญ

ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ผมได้ติดตามเรื่องนี้ก็คือ ทางศอ.บต. ต้องการที่จะมีเมืองชายแดนที่มีการปลอดภาษี และเปิดสถานบันเทิงได้เกินเวลา และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยซื้อของที่ปลอดภาษี ในวงเงินที่รัฐบาลกำหนดให้ และเรื่องนี้ก็จะเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งผมเองได้มีการประสานไปยังสมาชิกสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ และถามท่านปลัดเทศบาล ที่รักษาการแทนนายกในขณะนี้ว่า เรื่องนี้ทางเทศบาลในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องมาช่วยทำกัน และท่านปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ท่าน ดร.กิตติ ก็ได้ทำหนังสือไปถึง ศอ.บต.เพื่อขับเคลื่อน และผลักดันในเรื่องนี้ เมื่อศอ.บต.ได้รับเรื่องจากท้องถิ่นไปแล้ว ทางศอ.บต.ก็รับเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้หาดใหญ่ได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 3 เมือง ตามนโยบายของรัฐบาลคือ เบตง สุไหงโก-ลก และเมืองที่ 3 ก็คือหาดใหญ่ ฉะนั้นในเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นหน้าที่ในภารกิจของเทศบาลของท้องถิ่นที่มีส่วนในการผลักดัน นโยบายในเรื่องของเมืองปลอดภาษีด้วย

ผมจึงมีนโยบายว่าภายใต้ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของเทศบาลและนายกเทศมนตรี จะมีนโยบายผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ และถ้าเกิดขึ้นจริง เศรษฐกิจหาดใหญ่ก็จะฟื้นวิกฤตอย่างรวดเร็ว กลายเป็น shopping paradise เมืองสวรรค์สำหรับนักช้อปทั้งหลาย ดังนั้นนี่คือตัวหนึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่มาตรการดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะให้เวลายาวนานเท่าใด ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการผลักดันเมืองปลอดภาษี จึงเป็นนโยบายที่จำเป็นต่อสถานการณ์ในขณะนี้
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ กองทุนเพื่อส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับประชาชน เราเคยมีกองทุนพัฒนาอาชีพของเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่ให้กรรมการชุมชน และกรรมการกองทุน เป็นคนพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเงินทุนของผู้ประกอบการหรือผู้ทำธุรกิจ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2547 ถึง 2548 ในสมัยแรกที่ผมมาเป็นนายกเทศมนตรี และเงินในโครงการนี้ก็ยังไหลเวียนหมุนได้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการที่ดี ในเมื่อคนรากหญ้าหรือคนที่มีกำลังน้อย จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนมันเป็นเรื่องที่ยาก ที่สำคัญที่สุด เราอยากให้กองทุนนี้บริหารโดย ภาคประชาชน ให้ประชาชนพิจารณากันเอง โดยไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ หรือฝ่ายข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ
ซึ่งนโยบายนี้เป็น 2 นโยบาย ที่เราได้ผลักดัน และในเรื่องของกองทุนเราก็ทำมาแล้ว ซึ่งก็จะมีการรื้อฟื้นกลับขึ้นมาอีก เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง