แพทย์ทั่วประเทศพอใจหมวกป้องกันเชื้อ PAPR พัฒนาโดยจิตอาสา กฟผ.-หมอรามา ช่วย save ทีมแพทย์ทั่วประเทศสู้โควิด-19 หลังใช้งานจริง พบปลอดภัยหายใจสะดวก ทำงานได้มั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญแบตเตอรี่ใช้ได้นานถึง 8 ชั่วโมง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงร่วมกับ โรงพยาบาลรามาธิบดีในการพัฒนาหมวกป้องกันเชื้อ PAPR โดยผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลนำไปทดลองใช้งานจริงและรวบรวมข้อเสนอแนะให้ทาง กฟผ. นำไปปรับปรุงพัฒนาจนเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อร่วมปกป้องทีมแพทย์พยาบาลให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคขณะปฏิบัติหน้าที่
“หมวกป้องกันเชื้อ PAPR มีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เพราะจะช่วยให้ทีมแพทย์และพยาบาลปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมภายนอกควบคู่กับการสวมใส่ชุด PPE เนื่องจากหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เป็นหมวกความดันบวกทำให้อากาศภายในไหลเวียนดี มีระบบกรองอากาศดักจับเชื้อโรคภายนอก น้ำหนักเบา มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ไม่มีเสียงพัดลมรบกวน และใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งหมวกป้องกันเชื้อ PAPR สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ต้นทางภายในห้องฉุกเฉิน การรักษาผู้ป่วยในห้อง ICU ไปจนถึงปลายทางในการชันสูตรพลิกศพ ขอบคุณ กฟผ. ที่ผลิตนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความมั่นใจและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ หมวกป้องกันเชื้อ PAPR เกิดจากน้ำใจของคนไทยร่วมกันกับ กฟผ. ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ‘เทใจ’ โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ได้ประมาณ 300 ใบ ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลแล้วกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งมอบได้ครบตามเป้า 500 ใบ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งเตรียมจัดหาทุนเพิ่มสำหรับการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ให้ได้อีก 500 ใบ เพื่อเสริมศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยสู้โควิด-19