
วันที่ 10 กันยายน 2563เวลา 17.00 น. ที่บริเวณลานจอดรถเทศบาล ถนนสายบุรี อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา ภายใต้ชื่องาน “Songkhla (Oldtown) Creative District : สงขลาสร้างสรรค์ ดูแลให้แลดี” โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม หัวหน้าส่วนราชการ นักออกแบบ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนชาวสงขลาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา เป็นสาขาแห่งที่ 3 นับจากจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น ซึ่งเป็นการขยายสาขาครบทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้ง ยังเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเดินหน้าขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ ณ อาคารสถานีดับเพลิงเก่า ถนนสายบุรี อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา และปัจจุบันได้ดำเนินการตัดสินผลงานผู้ชนะการประกวดออกแบบอาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา เสร็จสิ้นแล้วในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการ ภายในปี 2565

โดยในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งสำนักงานฯ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของ CEA จึงได้จัดงานเปิดโครงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา ภายใต้ชื่องาน “Songkhla (Oldtown) Creative District : สงขลาสร้างสรรค์ ดูแลให้แลดี” ระหว่างวันที่ 10 – 27 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่องที่สะท้อนถึงศักยภาพของเมืองสงขลาในการเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3 ด้าน คือ 1) การมีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเชื้อชาติและศาสนา 2) การมีภาคส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งในการร่วมขับเคลื่อนเมือง และ 3) การมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งระบบการคมนาคม เศรษฐกิจ โลจิสติกส์ และสถาบันการศึกษา

สำหรับงาน “Songkhla (Old Town) Creative District : สงขลาสร้างสรรค์ ดูแลให้แลดี” จะประกอบด้วยนิทรรศการ 2 ส่วน คือ

1. นิทรรศการ “From concept to construction” การจัดแสดงผลงานของผู้ชนะและผู้เข้าร่วมการประกวดออกแบบอาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา ณ บริเวณอาคารสถานีดับเพลิงเก่า ถนนสายบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยจะจัดแสดงแบบและโมเดลจำลอง ของผู้ชนะ และรองชนะ 3 บริษัท รวมถึงผลงานของผู้เข้าร่วมการประกวดแบบ จำนวน 25 ผลงาน เพื่อบอกเล่าถึงแนวคิด รูปแบบ และรายละเอียดของตัวอาคารที่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในย่านเมืองเก่าสงขลา พร้อมด้วยส่วนบริการทั้งห้องสมุดที่เป็นแหล่งความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์แบบครบวงจร เป็นแหล่งพบปะการทำงาน Co-working space และพื้นที่จัดแสดงผลงาน นิทรรศการ และกิจกรรมสร้างสรรค์

2. นิทรรศการ “Portrait of Songkhla : ครอบครัวเมืองเก่าสงขลา 2563” ซึ่งจะ จัดแสดงในหลายจุดของย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายครอบครัวเพื่อแสดงเอกลักษณ์และคุณค่าของเมืองสงขลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม ครอบครัว วิถีชีวิต อาชีพธุรกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมที่มีคุณค่า โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างการมีส่วนร่วมของชาวเมืองเก่าสงขลา ในทุกกระบวนการ และถ่ายทอดออกมาโดยฝีมือของช่างภาพท้องถิ่นหลากหลายวัย ที่ได้มีการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้กับเครือข่ายช่างภาพจากกรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันส่งเสริม ต่อยอด และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่อไป

ทั้งนี้ ขณะที่อาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา อยู่ในกระบวนการก่อสร้าง ทางสำนักงานฯ จะเดินหน้าการทำกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น การศึกษาและวิจัย แนวคิดการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของคนในพื้นที่ต่อไป


