มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการ “หลาวัฒนธรรม” และ “เผล้งหลามาร์เก็ต” เป็นพื้นที่กลางทางสังคมและวัฒนธรรม กระตุ้นภูมิคุ้มกันทางสังคม และการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน ได้ใช้เผล้งหลาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ เป็นสื่อกลาง ซื้อ ขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ท้องถิ่น สินค้าอัตลักษณ์ถิ่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เปิดเผยว่าผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมสำคัญประการหนึ่ง จากสถานการณ์ปัญหาการระบาด และการบังคับมาตรการเพื่อการป้องกันโรคโควิด-19 คือ การตัดห่วงโซ่ความสัมพันธ์ การขาดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ และการแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรม และภาวะบอบช้ำจากผลกระทบในด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน (สสช.) จึงได้จัดทำโครงการ “หลาวัฒนธรรม” เป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่กลางในการสร้างสรรค์ ปฏิสัมพันธ์ การเชื่อมร้อยทางสังคม การฟื้นฟูอารมณ์จิตใจ และที่สำคัญคือการใช้วัฒนธรรม เน้นศิลปะ การแสดงพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยจัดประกวดแข่งขันโนรา ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านและการร่ายรำที่ได้รับความนิยมมาอย่างแพร่หลาย ในรูปแบบออนไลน์
“หลาวัฒนธรรมคือพื้นที่กลางให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ และผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์แม้จะเป็นพื้นที่ออนไลน์ แต่การออกแบบกิจกรรม และการสร้างความเชื่อมโยงกับแฟนคลับที่ติดตามโนราคณะนั้น ถือเป็นการฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจ โดยที่การแสดงโนราจะเป็นเสมือนวัคซีนบูสเตอร์กระตุ้นภูมิคุ้มกันทางสังคม”
รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าโครงการหลาวัฒนธรรม ยังเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรม “เผล้งหลามาร์เก็ต” ซึ่งในอดีตเผล้งหลาหมายถึงภาชนะดินเผาบรรจุน้ำดื่ม ที่วางไว้ประจำศาลากลางหนของหมู่บ้าน หรือเส้นทางคมนาคม ด้วยน้ำใจ มิตรภาพ การแบ่งปัน และการเอื้ออาทรผู้ผ่านทางได้ดื่มดับกระกระหาย “เผล้งหลามาร์เก็ต” จึงเป็นเสมือนพื้นที่กลางที่บรรจุไปด้วยทุนทางสังคม การแบ่งปันและเอื้ออาทรกันและกันในท่ามกลางความยากลำบากของการใช้ชีวิต การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในรูป Platform ออนไลน์ สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน ได้ใช้เป็นพื้นที่กลางในการซื้อ ขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ท้องถิ่น สินค้าอัตลักษณ์ถิ่นไปพร้อมๆกับการรับชมโนราและเวลาอื่นๆที่เหมาะสมโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ
#เผล้งหลามาเก็ต เป็นตลาดกลาง (Marketplace) ตลาดขายของบนโลกออนไลน์ ที่เปรียบเสมือนแหล่งนัดพบของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยตลาดกลาง บริการอำนวยความสะดวกในการติดต่อ ซื้อ-ขาย อย่างเป็นระบบ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขาย ไม่ว่าร้านจะมีขนาดเล็ก-ใหญ่ สามารถเปิดร้านขายได้ทันที
จุดเด่น คือร้านค้าไม่ต้องการหาลูกค้า เพราะเป็นหน้าที่ของตลาดกลาง ที่ต้องสร้างตัวตน ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและสร้างความนิยมให้กับ “ตลาดออนไลน์” ทั้งนี้ ฝั่งลูกค้าสามารถเลือกสินค้าประเภทเดียวกันได้ โดยเปรียบเทียบราคา คุณภาพ ของร้านค้าที่หลากหลาย จึงสะดวกและประหยัดเวลาในการเลือกซื้อสินค้า
ด้านดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน (สสช.) กล่าวว่าคณะโนราที่เข้าประกวดแข่งขันต้องอาศัยอยู่ภายในจังหวัดพัทลุง หรือมีนักแสดงในคณะที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพัทลุงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนนักแสดงทั้งหมด โดยในรอบคัดเลือก คณะโนราต้องส่งคลิปวิดีโอร่ายรำและการทำบท หัวข้อ “โนราส่งใจห่างไกลโควิด” คณะโนราที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จะทำการแสดง ร่ายรำและทำบท หัวข้อ “โนราส่งใจห่างไกลโควิด” และหาผู้ชนะเลิศโดยใช้คะแนนจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คิดเป็นสัดส่วน 60% และคะแนนจากการ VOTE ด้วยการกด Like Share ผ่านทาง Facebook Fanpage สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน ในช่วงเวลาที่คณะโนรานั้นๆทำการแสดง สัดส่วน 40% สำหรับรางวัลในการประกวดแข่งขัน ชนะเลิศ 50,000 บาท รองชนะเลิศ อันดับ 1 30,000 บาท รองชนะเลิศ อันดับ 2 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. และรางวัลขวัญใจแม่ยก 5,000 บาท
อนึ่งในพิธีเปิดโครงการหลาวัฒนธรรมและเผล้งหลามาร์เกต ในวันนี้ (24 สิงหาคม 2564) มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับเกียรติจากคณะโนราเกรียงเดช เทพศรัทธา ซึ่งเป็นคณะโนราที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ของจังหวัดพัทลุง มาเปิดการแสดงโชว์ ณ ทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อเชิญชวนโนราเข้าร่วมกิจกรรม และให้กำลังใจแก่ประชาชนด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ทาง Facebook Fanpage สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน และ/หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางปาจรีย์ เรืองคล้าย โทร 08 8760 1006