วันอังคาร, 21 มกราคม 2568

เทศบาลนครหาดใหญ่เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยฯ รับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเป็นระบบ มั่นใจหาดใหญ่ปลอดภัย

วันที่ 18 ตุลาคม 2567 เทศบาลนครหาดใหญ่เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่อย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับ ชาวหาดใหญ่ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน เพื่อปกป้องความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงที มีการบรรยายสรุปอุทกภัย โดยหน่วยงานดังนี้

1.รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

2.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ ฝั่งตะวันออก

3.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๑๒ สงขลา

4.โครงการชลประทานสงขลา

5.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)

6.มูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ (คมรส.)

คณะผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่ นำโดย พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและเฝ้าระวังน้ำท่วม ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และ หลังเกิดเหตุ โดยการวางแผนและเตรียมการในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงระบบ ระบายน้ำ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์และบุคลากรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น โดยบริหารจัดการผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยฯ

สำหรับเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งแบ่ง การปฏิบัติงานออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเตรียมการป้องกันฯ ฝ่ายปฏิบัติการฯ และฝ่ายฟื้นบูรณะ โดยมุ่งเน้น ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเชิงป้องกันก่อนเกิดภัย ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่

1.ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาคูคลองรับมือน้ำท่วม เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ ลงพื้นที่สถานนีสูบน้ำ ข.7 กำชับเจ้าหน้าที่ให้เตรียมพร้อม วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ สถานีสูบน้ำฯ รวมถึงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ฝนตกหนัก และจัดโครงการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาคูคลองรับมือน้ำท่วม ปฏิบัติการขุดลอกคลอง ปรับภูมิทัศน์คลองสายหลัก กำจัดขยะและวัชพืช พร้อมเก็บสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้ดียิ่งขึ้น อาทิ คลอง สามสิบเมตร รวมถึงการแก้ไขจุดอ่อนน้ำท่วมขัง ปัญหาคูระบายน้ำอุดตัน เพื่อให้น้ำระบายได้ดียิ่งขึ้น และดำเนินการต่อเนื่องให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 เขต

2.สำรวจ ตรวจสอบความพร้อม และซ้อมแผนฯ วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ตรวจติดตามเตรียมความพร้อมป้องกันรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย นำโดย พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณสถานนีสูบน้ำปลายคลองเตย ข7 , จุดบริการกระสอบทราย ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ , ตรวจความพร้อมของศูนย์อพยพโรงเรียนเทศบาล 3 (โสภนพิทยาคุณานุสรณ์) , พบปะประชาชน ณ วัดหงส์ประดิษฐาราม (วัดคอหงส์) และการซ้อมแผนเผชิญเหตุทางน้ำ บริเวณศาลาสวนเทพประทานพร สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่

ในด้านการบริหารจัดการน้ำ เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมระบบ สั่งการทางไกลสถานีสูบน้ำต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้สามารถดึงข้อมูล สถานะ การทำงานของอุปกรณ์ตรวจวัดและเครื่องจักร โดยสั่งงานเครื่องจักรในสถานีมากกว่าหนึ่งเครื่องในการสั่งครั้งเดียว การประสานงานเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ซึ่งทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำทั้ง 27 สถานี ได้สะดวกรวดเร็วแม่นยำ เพื่อการตัดสินใจทันท่วงทีได้ดียิ่งขึ้น

3.เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ดังนี้

  • ศูนย์อพยพผู้ประสบภัย เทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่
    พื้นที่เขต 1 ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1 (เอ็งเสียงสามัคคี) และโรงเรียนเทศบาล 3 (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) รวมจำนวนที่รองรับผู้อพยพได้ 2,000 คน
    พื้นที่เขต 2 ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 4 (วัดคลองเรียน) รองรับผู้อพยพได้ 800 คน
    พื้นที่เขต 3 ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านหาดใหญ่) รองรับผู้อพยพได้ 550 คน
    พื้นที่เขต 4 ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขโรงเรียนเทศบาล 5 รองรับผู้อพยพได้ 200 คน
  • สถานที่อพยพ กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 เขต รวมจำนวนที่รองรับผู้อพยพได้กว่า 15,470 คน
  • สถานที่จอดรถ กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 เขต รวมจำนวนที่รองรับรถได้กว่า 7,000 คัน
  • บ้านพี่เลี้ยง มิติความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่ สมาชิกสภาเทศบาลและชุมชน ในการให้ที่พักพิงยามเกิดภัย แบ่งเป็นขนาด M , L , XL , XXL ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 เขต รวมจำนวน 90 หลัง รองรับผู้อาศัยได้จำนวน 1,773 คน

4.เตรียมความพร้อมหน่วยให้บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในแต่ละชุมชน ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขต้องเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ รวมจำนวน 140 คน
5.จัดเตรียมจุดบริการกระสอบทราย ดังนี้
-สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ (เรือนเพาะชำ) จำนวน 50,000 ถุง
-สนามกีฬากลางจิระนคร (หลังสนาม) จำนวน 50,000 ถุง

6.จัดเตรียมช่องทางติดต่อและติดตามข้อมูลข่าวสาร และการเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้

  • ศูนย์วิทยุกุญชร โทร 074 – 231149
  • ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เทศบาลนครหาดใหญ่ โทร 074–200005-7
  • สายด่วนกุญชร โทร 074-200000
  • สถานีวิทยุเทศบาลนครหาดใหญ่ FM 96.0 Mhz. โทร 074-200096
  • Line@ ได้แก่ 1.@hatyaicity 2.Hotline200000