วันพุธ, 25 ธันวาคม 2567

เทศบาลนครสงขลา เข้ารับการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2563

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เทศบาลนครสงขลา เข้ารับการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2563 โดยมี ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นประธานในการต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงานแก่คณะอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ ณ ห้องประชุมสารภี 2 สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ซึ่งมีนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานคณะอนุกรรม พร้อมด้วยนายวีระชัย ชมสาคร นายพนัส พฤกษ์สุนันท์ นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนางสาวพรพิมล วราทร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นคณะกรรมการประเมินฯ

โดยการประเมินฯ ครั้งนี้ เป็นการประเมินผลการดำเนินงานการบริหารจัดการนครสงขลา ภายใต้กรอบแนวคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน กับ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานด้านต่าง ๆ ในพื้นที่นครสงขลาในเชิงประจักษ์อีกด้วย
สำหรับโครงการ “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” เป็นการดำเนินงานตามนโยบายและเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติ กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการประเมินเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน หรือการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มาตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน 

โดยร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อมุ่งหวังให้เทศบาลทุกระดับได้นำกรอบแนวคิดและเกณฑ์ชี้วัด ภายใต้ ๔ องค์ประกอบ 34 ตัวชี้วัด ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี ไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองต่อไป ประกอบกับส่งเสริมให้เทศบาลที่ได้รับรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ระดับประเทศ จากการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นต้นแบบในการขยายแนวคิดเรื่องการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนไปสู่เทศบาลทั่วประเทศควบคู่กันไป เพื่อให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ทั้งในเวทีระดับอาเซียนและระดับสากล โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก