นายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมการตั้งศูนย์กักกันหรือสังเกตอาการกลุ่มผู้ป่วย (Local Quarantine) เพื่อเฝ้าสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ ณ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครหาดใหญ่ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
วันที่ 18 เมษายน 2563 นายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมด้วยนายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา นายเอกชัย แก้วรัตนะ ปลัดอำเภอกลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอหาดใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามเตรียมความพร้อมสถานที่สำหรับกักกันหรือเฝ้าสังเกตกลุ่มอาการกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ปริมณฑล และพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ซึ่งสถานที่นี้ตั้งอยู่ ณ ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ประมาณ 14 กิโลเมตร โดยได้ดำเนินการปรับปรุงห้องพักสำหรับการฝึกอบรมเดิมให้เป็นที่พัก แยกเป็นสัดส่วน ทั้งห้องพักที่เป็นสัดส่วนพร้อมห้องน้ำในตัว มีเครื่องอำนวยความสะดวกภายใน จำนวน 20 ห้อง และห้องพักรวม ขนาด 20 คน และ 6 คน อีกจำนวน 2 ห้อง รวมถึงห้องสำหรับการออกกำลังกาย โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายใน ได้แก่ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เครื่องปรับอากาศ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ผงซักฟอก สบู่ เครื่องซักผ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่เทศบาล อปพร. เพื่อเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยและสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน
ทั้งนี้ นายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ เลือกสถานที่ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นสถานที่เฝ้าระวัง กักกันกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในทางกายภาพ และห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน สำหรับจัดตั้งเป็นศูนย์กักกันหรือสังเกตอาการกลุ่มผู้ป่วยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น Local Quarantine เทศบาลนครหาดใหญ่ และยังเป็นสถานที่รองรับกักกันหรือสังเกตอาการกลุ่มผู้ป่วยของอำเภอหาดใหญ่ ที่ไม่มีสถานที่รองรับสำหรับการแยกไปกักกันตัวยังสถานที่อื่นๆ อีกด้วย เป็นการรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่จะเกิดขึ้น ให้สามารถดำเนินงานในช่วงภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขให้เป็นระบบที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไกในพื้นที่ดูแลเป็นเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีอาการอะไรก็สามารถกลับบ้านได้ ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ทางสำนักการช่างและสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครหาดใหญ่ เร่งปรับปรุงสถานที่ภายในห้องใหม่ทั้งหมด เตรียมและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ได้แก่
- ปรับปรุงสถานที่ ให้มีความพร้อมแก่ผู้เข้าพักและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น การกั้นห้องคัดกรอง
กั้นห้องสำหรับญาติที่จะมาเข้าเยี่ยมผู้กักกัน เปลี่ยนสุขภัณฑ์โถส้วม อ่างล้างหน้าแบบน้ำไหลอัตโนมัติ ม่าน เตียง ตู้ ที่นอน หมอน ผ้าคลุมเตียง ผ้าห่ม ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งเครื่องซักผ้าพร้อมน้ำยาฆ่าเชื้อ ราวตากผ้าสำหรับผู้กักกัน เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วจะทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อทั้งภายในอาคารและบริเวณโดยรอบของอาคารทั้งหมด
2. จัดเตรียม สบู่ แชมพู ครีมนวด ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ชุดเครื่องแต่งกายของผู้กักกัน
- จัดเครื่องสำรองไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอ
- จัดห้อง และจัดอุปกรณ์กีฬาให้เหมาะสมกับการออกกำลังกาย
- จัดระบบรักษาความปลอดภัยภายใน และการเข้า-ออก ของบุคคลต่างๆ
- จัดเตรียมอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่และสำหรับผู้ถูกกักกัน 3 มื้อ รวม 14 วัน
- จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.
- จัดทำเวชระเบียน/ทะเบียนบ้านผู้กักกัน/ทะเบียนห้องพัก
- จัดเตรียม จัดหาวัสดุที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
- จัดเก็บขยะ ควบคุมการรักษาความสะอาด และการสุขาภิบาลและอนามัย
- จัดระบบสื่อสารภายใน เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์
- จัดหาระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย สำหรับผู้กักกัน
- สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ
นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหาดใหญ่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำ
การตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาทั้งระบบที่ใช้ภายในตัวอาคารด้วย
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน การจัดตั้งศูนย์กักกันหรือสังเกตอาการกลุ่มผู้ป่วยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Quarantine) จะเป็นการกักกันเพื่อสังเกตการณ์เริ่มป่วย (Quarantine) เป็นการจำกัดกิจกรรมของบุคคลที่มีสุขภาพดี เนื่องจากสัมผัส (Expose) กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระหว่างช่วงที่แพร่เชื้อ (Period of communicability) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อถ้าบุคคลที่มีสุขภาพดีติดเชื้อ อย่างไรก็ดีระยะเวลาเฝ้าสังเกตอาการจะไม่นานเกินระยะฟักตัวที่ยาวที่สุดของเชื้อที่ก่อโรค ซึ่งในกรณีของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีระยะฟักตัวของโรคนาน 2-14 วัน จึงแยกตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน โดยมีระเบียบการปฏิบัติกยู่ในสถานที่กักกันเพื่อสังเกตอาการดังนี้
1. ห้ามออกนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประสานงาน
2. ห้ามบ้วนน้ำลาย เสมหะ สั่งน้ำมูก ลงบนพื้น
3. ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดที่กำหนดไว้ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้าเวลา 09.00 น. และช่วงเย็นเวลา 17.00 น. ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือ
4. เมื่อมีอาการผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง เช่น ไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลในพื้นที่
5. ล้างมือ ฟอกสบู่หรือ Alcohol gel ทุกครั้งหลังไอ จาม ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
6. ซักทำความสะอาดเสื้อผ้าเองทุกวัน ตามจุดที่จัดบริการไว้ให้
7. ทำความสะอาดภายในห้องพักด้วยตนเอง และนำขยะมูลฝอยทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่จัดไว้ให้
8. ทิ้งขยะมูลฝอยในถังขยะติดเชื้อที่จัดไว้ในห้อง และรวบรวมนำขยะมูลฝอยนำไปทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่ได้จัดเตรียมไว้ให้
9. ถ้ามีความประสงค์ให้ญาติมาเยี่ยม ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ประสานงาน
10. เวลารับประทานอาการ ให้มารับอาหาร ณ บริเวณที่กำหนดไว้
– มื้อเช้า เวลา 07.00 น.
– มื้อเที่ยง เวลา 11.30 น.
– มื้อเย็น เวลา 17.00 น.