วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

“เกษตร” มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัย การผลิตผักกินใบภายใต้โรงเรือนมาตรฐาน

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.นาหม่อม ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย “การเปรียบเทียบการผลิตผักกินใบแบบวิธีเกษตรกรและโรงเรือนมาตรฐานฯ” ชี้ผักเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ใช้เวลาปลูกไม่นาน สามารถปลูกขายได้หลายรอบในหนึ่งปี หนุนชุมชนทำเกษตรปลอดภัย ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการวิจัย เรื่อง “การเปรียบเทียบการผลิตผักกินใบแบบวิธีเกษตรกรและโรงเรือนมาตรฐาน : กรณีศึกษา ตำบลนาหม่อม จังหวัดสงขลา” ทุนงบประมาณเงินรายได้ (เงินบำรุงการศึกษา) คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการวิจัยเชิงพื้นที่ ณ ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ร่วมกับวิทยากร นายดุสิต มณีโชติ และ อาจารย์กุลอากร อ่ำมงคล ครูประจำแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎร์นิกร บรรยายในหัวข้อ การใช้วัสดุเพาะและดินปลูกที่เหมาะสมต่อการผลิตผักกินใบ, การผลิตผักกินใบอินทรีย์ในระบบโรงเรือนปลูกพืช, การตรวจสารตกค้างในผักกินใบอย่างง่าย การทดสอบค่า pH ของดิน การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผักกินใบ และการทำน้ำสลัดสูตรต่าง ๆ อย่างง่าย

ผศ.ดร.ศุภัครชา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบการทำการเกษตรของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกันตามลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ และเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ การผลิตพืชผักเป็นแขนงหนึ่งทางการเกษตร ซึ่งผักที่นำมาบริโภคควรมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถต้านทานโรคภัยได้ การผลิตผักให้มีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภคนั้นต้องผ่านกรรมวิธีการผลิต การปฏิบัติ และการดูแลรักษาที่ดี ถูกต้องตามหลักการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคมีความสนใจในการรับประทานผักสดเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามิน ใยอาหาร แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ประกอบกับกระแสการดูแลใส่ใจสุขภาพกําลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

ทั้งนี้ การมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตยืนยาว ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีวิตและอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารประเภทผักนั้นเป็นแหล่งของสารอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ และสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอาการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งผักถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนเร็วและมีระยะเวลาการเจริญเติบโตสั้น ทำให้สามารถปลูกขายได้หลายรอบในหนึ่งปี

ดังนั้น งานวิจัยเชิงประยุกต์นี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตผักกินใบด้วยการทำการเกษตรที่ปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อม และได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตพืช จนสามารถพัฒนาการปลูกผักกินใบโภชนาการสูง ต่อยอดสู่การสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชนพื้นฐานต่อไปได้