วันอาทิตย์, 3 พฤศจิกายน 2567

อาจารย์-นศ.ทัศนศิลป์ มรภ.สงขลา สร้างชื่อเวทีประกวดศิลปะนานาชาติ ธีมหุ่นนิ่ง “อ.ศิวะ อินทะโคตร” ชนะเลิศอันดับ 1 “อิลยานี มามะ” คว้ารางวัลพิเศษ

อาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ มรภ.สงขลา แทคทีมสร้างผลงานเวทีประกวดศิลปะนานาชาติออนไลน์ ธีมหุ่นนิ่ง“อ.ศิวะ อินทะโคตร” ชนะเลิศอันดับ 1 “อิลยานี มามะ” คว้ารางวัลพิเศษกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป

อาจารย์ศิวะ อินทะโคตร หลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 (1ใน 5 รางวัล) กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป จากการประกวดศิลปะนานาชาติออนไลน์ ธีม “หุ่นนิ่ง” เพจ Sweety. สหรัฐอเมริกา INTERNATIONAL ART CONTEST FOR ADULTS & KIDS  By Sweety. USA. ได้รับเหรียญรางวัลส่งมาจากสหรัฐอเมริกา ใบประกาศนียบัตร การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานร่วมกับผู้ที่ได้รางวัลทั้งหมด โดยรางวัลที่ 1-3 ลงในนิตยสาร Expressions Arts  magazine ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2022 รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายนิตยสาร นำไปใช้จ่ายในการดำเนินงานช่วยเหลือสังคม ในกิจกรรมของกลุ่มเครือข่าย Expressions Arts 

สำหรับธีมหุ่นนิ่งหรือ Still life เป็นลักษณะการวาดภาพวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น ของใช้ ถ้วยชาม แจกันดอกไม้ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่แสดงลักษณะเป็นรูปทรงในระยะใกล้ โดยผู้วาดต้องแสดงทัศนะความงามหรือแนวคิดออกมา ซึ่งผลงานของตนมีชื่อว่าหุ่นนิ่ง 3 ใช้เทคนิคสีคละครีลิคบนกระดาษ 100 ปอนด์  ขนาด 56×76 ซม. เป็นผลงานที่วาดสาธิตในคาบเรียนรายวิชาจิตรกรรม 2 เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาโดยมีแนวคิดที่ไม่ซับซ้อนมาก เนื่องจากเป็นผลงานที่เน้นทักษะ ต้องการแสดงออกถึงความงามของหุ่นนิ่งผ่านทางสี บรรยากาศและความสัมพันธ์ของสีภายในภาพ แสดงออกด้วยทีแปรง ให้เกิดความเคลื่อนไหวและการแสดงตัวของชุดสี และยังคงแสดงคุณลักษณะของหุ่นนิ่งรูปทรงต่างๆ เอาไว้

ในส่วนของขั้นตอนการส่งผลงานเข้าประกวด มีรายละเอียดดังนี้ 1. กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์การประกวด โดยอัพโหลดไฟล์รูปภาพผลงานได้สูงสุด 5 ผลงาน และข้อมูลรายละเอียดผลงาน รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวผู้เข้าประกวด 2. หลังจากนั้นกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และคัดเลือกผลงานรางวัลในแต่ละกลุ่มอายุ และประเภทรางวัล โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน คือ Adeyemi Ramon Omolaja , Adeyemi Ramon,  Simona Potop  ซึ่งในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปมีผลงานผ่านเข้ารอบจากหลายประเทศ อาทิ    สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บังคลาเทศ ยูเครน เอธิโอเปีย ปากีสถาน บัลแกเรีย โรมาเนีย โอมาน ฟิลิปปินส์ สวีเดน กาตาร์ สหราชอาณาจักร ศรีลังกา กรีซ รัสเซีย ไทย เซเนกัล เคนยา คอสตา ริกา อินโดนีเซีย บาห์เรน ตุรกี มาเลเซีย โมร็อกโก ก่อนจะคัดผลงานรางวัล 5 ประเภทสุดท้าย 3.ประกาศผลการคัดเลือกทางเว็บเพจและอินสตราแกรม และจัดแสดงผลงานทั้งรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวคลิป VDO

อาจารย์ศิวะ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า เป็นการส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เกี่ยวกับศิลปะซึ่งมีการดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา และเป็นการทำตัวอย่างให้นักศึกษาได้ดู ในการเผยแพร่งานในรูปแบบนี้ ไม่ได้คาดหวังเรื่องรางวัล ขอให้ผ่านเข้าร่วมแสดงก็เพียงพอ และเป็นเวทีที่ กำหนดหัวข้อที่ตรงการเนื้อหาการเรียนการสอนในหลักสูตร จึงมองเห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ดีในการได้นำเสนอผลงานการเรียนการสอนได้เข้าร่วมเผยแพร่ในกลุ่มเครือข่ายนานาชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักศึกษาให้ได้เผยแพร่ผลงานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่จัดงานเป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่ใช้ชื่อว่า Expressions Arts ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรอยู่ที่สหรัฐอเมริกา รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยใช้กิจกรรมทางศิลปะในการดำเนินการ มีการจัดอบรมเวิร์กช็อปฟรีให้กับชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มผู้อาวุโสความจำเสื่อม กลุ่มทหารผ่านศึกและครอบครัว กลุ่มผู้หญิงจากที่พักพิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ศิลปะกับเด็กออทิสติก เป็นต้น และมีการจัดการประกวดผลงานศิลปะทั้งในระดับชาติและนานาชาติในกลุ่ม เพจ FB Sweety Saradha Arts และ Instagram Expressions Arts  และ EXPRESSIONS Online Gallery www.expressions arts.com

ด้าน นางสาวอิลยานี มามะ นักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ ซึ่งได้รับรางวัลพิเศษ (1 ใน 9 รางวัล) จากงานเดียวกัน กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นการวาดตามหุ่นที่อาจารย์จัดให้ รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัล ซึ่งงานนี้สามารถส่งผลงานได้สูงสุด 5 ภาพ ตนส่งไปทั้งหมด 4 ภาพ ไม่คาดคิดว่าจะได้รับรางวัลพิเศษจากการประกวดในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นงานระดับนานาชาติ ขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสตนได้ส่งงานเข้าร่วมประกวดมาโดยตลอด ซึ่งผลงานที่ได้รางวัลในครั้งนี้เป็นเทคนิคสีน้ำ งานเซตที่ส่งประกวด 4 ภาพ และเป็นครั้งแรกที่ใช้สีน้ำแบบจริงจัง และได้เรียนรู้เทคนิคสีน้ำแบบลึก