วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

อาจารย์เกษตร มรภ.สงขลา ให้ความรู้เกษตรกร อ.ระโนดเรียนรู้ “พันธุ์และการจัดการปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง”

อาจารย์เกษตร มรภ.สงขลา ให้ความรู้เกษตรกร อ.ระโนดเรียนรู้ “พันธุ์และการจัดการปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง”

ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง คณาจารย์ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง “พันธุ์ และการจัดการปุ๋ยปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” จัดโดยสำนักงานเกษตรอำเภอระโนด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 โดยมี นางสุจิตรา รุ่งรัศมีวิริยะ เกษตรอำเภอระโนด พร้อมด้วย นางสาวราตรี ด้วงดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และทีมงาน ให้การต้อนรับ นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร มาแจกจ่ายเชื้อปฏิปักษ์ในการกำจัดศัตรูพืชทั้งโรคและแมลงให้แก่เกษตรกร อาทิ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สารสกัดสะเดา เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ซัพทีลิส เป็นต้น

ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร กล่าวว่า อ.ระโนด เป็นแหล่งปลูกพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศหลายชนิด เช่น ข้าวและไม้ผล แต่หลายปีที่ผ่านมาพืชหลักหลายชนิดประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ประกอบกับปัญหาสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เกษตรกรจึงมีการปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชน้ำมันที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น ทั้งด้านการผลิตและการตลาด เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูง ทำให้มีต้นทุนการผลิตและราคาต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก จนส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน ซึ่งพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ดีต้องปรับตัวและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบัน คือ พันธุ์ลูกผสมเทเนอราที่ได้จากการผสมระหว่างแม่พันธุ์ดูราและพ่อพันธุ์พิสิเฟอรา ที่ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ และสามารถยืนยันได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกได้ดี

ที่ผ่านมาสถานีพัฒนาดินจังหวัดสงขลา มีโครงการพลิกฟื้นนาร้างเป็นสวนปาล์มน้ำมัน โดยได้ฟื้นฟูนาร้างเพื่อปลูกปาล์มแล้วมากกว่า 21,000 ไร่ พื้นที่นาร้างที่สำคัญจะอยู่แถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา บริเวณ อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ และ อ.ระโนด ซึ่งสมบัติดินในพื้นที่นาร้างส่วนใหญ่เป็นชุดดินระโนดที่เกิดจากตะกอนน้ำกร่อยนำพามาทับถมอยู่บนที่ราบชายฝั่งทะเล การระบายน้ำเลว น้ำซึมผ่านได้ช้า และพบว่าดินเป็นกรดจัดมากถึงกรดจัด (pH 4.5-5.5) ดังนั้น เกษตรกรจึงควรระมัดระวังในการเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์การค้าให้มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ปลูก เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและผลผลิตที่ดี

ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง กล่าวว่า ในการให้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันต้องจัดการเรื่องธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมให้มีความเหมาะสมและสมดุลกัน ซึ่งธาตุอาหารหลักที่สำคัญคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ในช่วงปีแรกให้เน้นใส่ธาตุอาหารหลัก N-P-K ในระดับที่เท่ากันโดยแบ่งใส่ 4-5 ครั้งต่อปี ส่วนปีที่ 2-3 ให้ใส่ธาตุอาหารหลักเช่นเดียวกันแต่เพิ่มปริมาณมากขึ้น และแบ่งใส่ 3 ครั้งต่อปี

ส่วนปาล์มน้ำมันที่อายุ 3 ปีขึ้นไป เน้นใส่ปุ๋ยสูตรที่มีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจนและโพแทสเซียมสูงกว่าฟอสฟอรัส จะช่วยในเรื่องของการติดดอกและให้ผลผลิตทะลายสูง โดยจำเป็นต้องใส่ธาตุอาหารรองด้วย ได้แก่ แมกนีเซียม ที่มีส่วนช่วยให้ปาล์มน้ำมันมีการสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารสะสมได้ดีขึ้น และธาตุอาหารเสริม ได้แก่ โบรอน จะช่วยในเรื่องของความแข็งแรงของละอองเกษร มีการผสมติดดอกมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักทะลายต่อต้นต่อปีสูงขึ้นด้วย เคล็ดลับในการใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน คือ ต้องใส่ปุ๋ยหลายครั้งต่อปี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น 5-20 เซนติเมตร เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดการสูญเสียธาตุอาหาร และเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางลำต้นที่ดีต่อไป