
มรภ.สงขลา สุดปลื้ม 4 ผลงานวิจัยอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร จดทะเบียนอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน” สร้างเครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน “ผศ.ดร.ธิติมา พานิชย์” ผงหมักสเต็กรสจิ้มแจ่วที่มีส่วนผสมของเปลือกมะละกอและกระบวนการผลิต “ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา” คิดค้นสูตรซอสกอและพร้อมบริโภค-กรรมวิธีการผลิตซอสกอและแบบผง

ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผลงานวิจัยซึ่งจัดทำโดยอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร จำนวน 3 คน ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประจำปีการศึกษา 2563 รวม 4 เรื่อง ได้แก่ 1. เครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน 2. ผงหมักสเต็กรสจิ้มแจ่วที่มีส่วนผสมของเปลือกมะละกอและกระบวนการผลิต 3. สูตรซอสกอและพร้อมบริโภค และ 4. กรรมวิธีการผลิตซอสกอและแบบผง ทั้งนี้ เครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดิน (วันที่ออกอนุสิทธิบัตร 28 มกราคม 2564) จัดทำโดย ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ ซึ่งเครื่องเจาะรูพลาสติกคลุมดินที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ ออกแบบโดยใช้ความคมของอุปกรณ์และแรงกดในการทำให้พลาสติกขาดเป็นรู อันเป็นการแก้ไขข้อจำกัดของกระป๋องใส่ถ่านติดไฟที่เกษตรกรนิยมใช้

สำหรับผงหมักสเต็กรสจิ้มแจ่วที่มีส่วนผสมของเปลือกมะละกอและกระบวนการผลิต (วันที่ออกอนุสิทธิบัตร 17 มีนาคม 2564) เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ธิติมา พานิชย์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกและตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคอาหารฟิวชันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในการรับประทานสเต็กที่มีรสชาติแบบไทยๆ โดยนำเปลือกมะละกอผงซึ่งมีเอนไซม์ปาเปนตามธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ผงหมักสเต็กสำเร็จรูปรสจิ้มแจ่ว

ในส่วนของสูตรซอสกอและพร้อมบริโภค (วันที่ออกอนุสิทธิบัตร 26 ตุลาคม 2563) กรรมวิธีการผลิตซอสกอและแบบผง (วันที่ออกอนุสิทธิบัตร 28 มกราคม 2564) จัดทำโดย ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร มีความมุ่งหมายในการประดิษฐ์เพื่อสร้างความสะดวกในการทำอาหารให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างความสะดวกต่อการบริโภค การเก็บรักษา และการขนส่ง นอกจากนั้น ยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของซอสกอและในสภาวะอุณหภูมิห้อง และเป็นแนวทางในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไป
