อว.ผนึก มรภ.สงขลา พร้อมเครือข่ายมหาวิทยาลัย 30 แห่งลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ มุ่งส่งเสริมงานวิจัย-วิชาการ ฟื้นฟูทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดสู่การถ่ายทอดภูมิปัญญา สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าท้องถิ่น
วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดย วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา จำนวน 30 แห่ง
ในการนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระศักดิ์ อักษรถึง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ดร.โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นสักขีพยาน โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. บรรยายพร้อมผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนา
สำหรับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ มีดังนี้
1. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศสำหรับการวิจัยสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ และการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและวิชาการ และบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นคลังปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบัน
3. เพื่อสร้างความร่วมมือและระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อการวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
4. เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ต่อยอดการประยุกต์ใช้ไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้งานวิจัยเกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา การสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น