
หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เดินหน้าโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” จัดเต็มความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตพืช การจัดการดินและปุ๋ย ควบคู่เรียนรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม หวังปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงคู่ท้องถิ่น

ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล ประธานหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้จัดทำโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่ และยังรองรับการเทียบโอนในระบบคลังหน่วยกิต เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจในด้านการเกษตรสมัยใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลผลิตในโรงเรือนแบบอัตโนมัติ ยกระดับการผลิตพืชให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน โดยได้เริ่มจัดโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน

ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการผลิตพืช การจัดการดินและปุ๋ย การใช้วัสดุปลูก การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จากผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มรภ.สงขลา ซึ่งได้แบ่งปันความรู้ด้านหลักการและเทคนิคการทำเกษตรอย่างละเอียด พร้อมลงมือทำในทุกขั้นตอน เพื่อเสริมสร้างทักษะการผลิตในภาคสนามตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ผู้เข้าอบรมยังได้มีโอกาสเรียนรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มจากผู้มีประสบการณ์ นายกรวิชญ์ มาระเสนา ประธานเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดสงขลา มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำ ทั้งในแง่ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ทำน้อยแต่ได้มาก พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายในการทำเกษตรที่เต็มไปด้วยความสุขและความสำเร็จ ที่สำคัญ ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบและสร้างโรงเรือน ทั้งการเตรียมพื้นที่ เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง งานเหล็กในการเชื่อมเสา เชื่อมคานโรงเรือน และการทำงานคอนกรีตเทโคน โดยมี นายไพรวัลย์ สิริทรัพย์นพคุณ อดีตวิศวกรจากบริษัทเอกชนในสายงานโทรคมนาคม ผู้มีความสามารถสูงและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าอบรม พร้อมลงมือทำทุกขั้นตอน เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงานที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาเกษตรกรรมในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://l.skru.ac.th/ZQOj2













ข้อมูล โดย ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล ประธานหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์
รูปจาก เพจ เกษตรศาสตร์-หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต-ม.ราชภัฏสงขลา