วันเสาร์, 28 ธันวาคม 2567

“หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์” คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สร้างกำลังคนสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine อว. หนุน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” ภายใต้ชุดวิชานวัตกรรมและระบบเกษตรสมัยใหม่ สะสมคลังหน่วยกิตเทียบโอนต่อ ป.ตรี

หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ทำโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย เผย อว. หนุนงบประมาณให้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” โดยดึงชุดวิชานวัตกรรมและระบบเกษตรสมัยใหม่ของหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ สะสมเป็นคลังหน่วยกิตเทียบโอนเรียนต่อปริญญาตรี หวังพัฒนากำลังคนสอดคล้องความต้องการแรงงานของประเทศ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ภายใต้โครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ” กล่าวรายงาน โดย ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล ประธานหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม 2567-16 กุมภาพันธ์ 2568 (อบรมทุกวันเสาร์-อาทิตย์) ณ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา และสถานประกอบการ โดยมีนิสิต/นักศึกษา หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะ เข้าร่วมโครงการจำนวน 26 คน

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ กล่าวว่า ชุดวิชานวัตกรรมและระบบเกษตรสมัยใหม่ หลักสูตร วท.บ.สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการจัดทำโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยจัดอบรมให้แก่บุคคลวัยทำงานที่มีพื้นฐานด้านการเกษตรหรือสนใจสร้างอาชีพด้านการเกษตร และ นักเรียนระดับชั้น ปวส. ที่เรียนด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะการผลิตพืชให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ และมีความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย

ด้าน ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาทักษะปฏิบัติตั้งแต่การผลิตพืช การจัดการศัตรูพืช การออกแบบและติดตั้งโรงเรือนและระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญ สามารถสะสมเป็นระบบคลังหน่วยกิต จำนวน 9 หน่วยกิต ในโมดูลนวัตกรรมและระบบเกษตรสมัยใหม่ ของหลักสูตร วท.บ.สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 1. วิชาเทคโนโลยีการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการผลิตพืช 2. วิชาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ฟาร์มสมัยใหม่ และ 3. วิชาสารสนเทศเพื่อส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้เรียน พร้อมทั้งรับใบประกาศนียบัตรรับรองหน่วยกิตสำหรับเทียบโอนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะการผลิตพืชให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศต่อไป