วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

“หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา รับรางวัลเครือข่ายดีเด่นระดับประเทศ ขับเคลื่อนอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปกรรม เมืองเก่า มรดกโลก

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฯ โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา รับรางวัลเครือข่ายดีเด่นระดับประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ศิลปกรรม เมืองเก่า และมรดกโลก ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เวทีประชุมวิชาการ “49 ปี สผ. ก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตไทยที่ยั่งยืน” สุดปลื้มเป็น 1 ใน 4 อันดับแรกที่ได้รับรางวัลจากหน่วยอนุรักษ์ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

ผศ.กมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสงขลา โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ศิลปกรรม เมืองเก่า และมรดกโลก ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “49 ปี สผ. ก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตไทยที่ยั่งยืน: ONEP for All, ONEP for Future” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ซึ่งหน่วยอนุรักษ์สงขลาถือเป็น 1 ใน 4 อันดับแรกที่ได้รับมอบรางวัลดังกล่าวจากหน่วยอนุรักษ์ทั่วประเทศ 76 จังหวัดการจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการ และผลการดำเนินงานสำคัญ ตลอดจนทิศทางแนวโน้มการพัฒนาที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในระยะถัดไป ให้เกิดความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน

ผศ.กมลนาวิน อินทนูจิตร กล่าวถึงรางวัลดังกล่าวว่า เป็นรางวัลที่ได้รับการประเมินจากการดำเนินการตามพันธกิจหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และได้รับงบประมาณจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วงปี 2561-2567 โดยหน่วยอนุรักษ์สงขลามีความโดดเด่นทั้งในด้านวิชาการและการขับเคลื่อนโครงการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การดำเนินงานประกาศย่านชุมชนเก่าเป็นมรดกจังหวัด การใช้เทคนิคทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

นอกจากนั้น ยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายทั้งในพื้นที่ ระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งการขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าสงขลาและการก้าวสู่สงขลาสู่มรดกโลก ทั้งยังได้รับเชิญออกบูทงานวิชาการด้านการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม แหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์และการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้รับความสนใจจากผู้บริหาร ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เยาวชน และนักวิชาการอิสระ อย่างดียิ่ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/view_photo/photo1.php?album=2024090602