วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ติดตามการขับเคลื่อน “โนรา” วัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่..เศรษฐกิจสร้างสรรค์

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565  รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมให้การต้อนรับ อาจารย์ อิศรา กันแตง และ อาจารย์ ดร.วศิน โกมุท ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในกิจกรรมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของโครงการวิจัย “โนรา” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย ร่วมนำเสนอการดำเนินโครงการวิจัย ณ วัดปากพล ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง 

 มีกิจกรรมการเสวนาจากกลุ่มเครือข่ายผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการ ศิลปินมโนราห์ ประกอบด้วย 1) คุณประเสริฐ รักวงษ์ ประธานสมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา 2) คุณจตุรงค์ จันทระ ผู้ประกอบการเทริดโนรา คณะมโนราห์ศิลป์เสน่ห์ จังหวัดสงขลา 3) คุณบุญทิพย์ สุริยจันทร์ ผู้ประกอบการโนราคณะมโนราห์ ศ.คลื้น สุริยจันทร์ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง 4) คุณทวี ดำเกตุ  ผู้ประกอบการโนราคณะมโนราห์เทวีมณีศิลป์ อ.ควนเนียง จ.สงขลา และ 5) คุณทนุธรรม เพชรพงษ์ ผู้ประกอบการโนราคณะมโนราห์เต่าเพชรส่งเสริมศิลป์ จังหวัดสงขลา ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนามีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐหรือผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ อาทิ การขึ้นทะเบียนศิลปินวัฒนธรรมจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และการดูแลทางด้านสุขภาพ การดูแลค่าตอบแทนตามตำแหน่ง ภายใต้สังกัดวัฒนธรรมจังหวัดนั้นๆ โดยมี อาจารย์ พัทรา ผดุงสุนทรารักษ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้ 

 สำหรับโครงการวิจัย “โนรา”  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนุบสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยเชิงพื้นที่ (บพท.) ซึ่งโครงการวิจัยมีแนวทางการดำเนินงานพัฒนานวัตกรทางด้านวัฒนธรรมผสานองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมโนราระหว่างศิลปินพื้นบ้านกับคนรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการทางด้านวัฒนธรรมโนราให้มีสมรรถะในการใช้สื่อธุรกิจออนไลน์ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางด้านโนราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และจัดทำชุดข้อมูลในระบบสารสนเทศแผนที่วัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลาอีกด้วย