
วันที่ 14 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมเฟื่องฟ้า ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียคลองสำโรงเฉลิมพระเกียรติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนวาระสงขลาสวย สะอาด ในประเด็นที่ 7 “ฟื้นฟูและพัฒนาคลองสำโรง” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายเฉลิมพล ยินเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัด นายปวัน พรหมพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง

นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คลองสำโรงเฉลิมพระเกียรติ เป็นสายน้ำสำคัญของชุมชนเก้าเส้งที่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสียมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีวิธีการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยวิธีการทางธรรมชาติ นั้นคือ ในช่วงที่น้ำในทะเลอ่าวไทยลง น้ำเน่าเสียในคลองสำโรงก็จะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยและในช่วงที่น้ำทะเลอ่าวไทยขึ้น ก็จะดันน้ำทะเลซึ่งมีน้ำเค็มเข้ามาในคลองสำโรงจะทำให้เกิดการเจือจางของน้ำเน่าเสียในคลองสำโรงเฉลิมพระเกียรติ นอกจากนี้ได้ติดตั้งทุ่นตาข่าย (Boom) เพื่อดักขยะไว้ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกรักษาความสะอาดและไม่ทิ้งขยะลงในลำคลอง รวมถึงการจัดกิจกรรมทำความสะอาดคลองสำโรง การเก็บขยะและการตัดแต่งกิ่งไม้ที่กีดขวางทางน้ำ เป็นต้น

สำหรับแผนปฏิบัติการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคลองสำโรงสวย สะอาด ปี 2563-2565 ได้มีการกำหนดมาตราการที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟู 2. การจัดการเชิงพื้นที่และการจัดทำข้อบัญญัติชุมชน 3.การแก้ไขปัญหาทางกายภาพของทองและทิศทางการพัฒนา 4. การฟื้นฟูระบบนิเวศครองและ 5. การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าและรายงานผลเป็นระยะเพื่อให้แผนงานต่างๆบรรลุตามเป้าหมาย




