วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

รร.สาธิต มรภ.สงขลา จัดกิจกรรม “free play day” เปิดโอกาสเด็กปฐมวัยเลือกเล่นอย่างอิสระ

โรงเรียนสาธิต มรภ.สงขลา จัดกิจกรรม free play day วันแห่งการเล่นอิสระ เปิดโอกาสน้องๆ หนูๆ ปฐมวัยวางแผนการเล่นได้อย่างใจคิด พร้อมเรียนรู้บทบาทความเป็นพี่น้อง ปูพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคม เผยช่วยให้เด็กจิตใจเบิกบาน ร่างกายแข็งแรง ควบคู่พัฒนาทักษะทางสมอง

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ดร.ขนิษฐ์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการโรงเรียน ผศ.ชนกพร ธีระกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมวัย ได้มอบหมายให้คณะครูปฐมวัยจัดกิจกรรม free play day วันแห่งการเล่นอิสระ ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2/2566 ซึ่งที่มาของการจัดกิจกรรม free play day สืบเนื่องมาจากคุณครูปฐมวัยของโรงเรียนสาธิต มรภ.สงขลา ได้ไปศึกษาดูงานจากโรงเรียนต้นแบบหลายๆ แห่ง และได้นำมาปรับใช้กับเด็กๆ ปฐมวัย จึงเกิดเป็นกิจกรรม free play day ขึ้นมาดังกล่าว

ผศ.ชนกพร ธีระกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมวัย โรงเรียนสาธิต มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรม Free play เป็นการให้เด็กเล่นอย่างอิสระ ผ่านฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยนำเอานวัตกรรมการเรียนรู้แบบMontessori มาใช้ ซึ่งเด็กจะเล่นด้วยกันแบบคละอายุ เป็นการฝึกให้เด็กเรียนรู้บทบาทการเป็นพี่ใหญ่ (อนุบาล 3) พี่รอง (อนุบาล 2) พี่กลาง (อนุบาล 1) และน้องเล็ก (น้องเตรียมอนุบาลบ้านสาธิต) ฝึกให้เด็กๆได้เป็นผู้นำ ผู้ตาม ผู้ให้ ผู้รับ มีการช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันเหมือนพี่น้อง ซึ่งถือเป็นการปูพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น การปรับตัว การสร้างตัวตนของเด็ก (Self) ในกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ High-Scope มาใช้ในการให้เด็กได้เลือกและวางแผนว่าตนเองสนใจ ชอบเล่นฐานอะไรบ้างตามลำดับที่ 1-5 ฐาน จากทั้งหมด 15 ฐาน แล้วเด็กก็นำภาพกิจกรรมในฐานที่เลือกไปติดลงในตารางวางแผนเป็นรายคน และเล่นฐานตามที่วางแผนไว้ โดยเราจะกำหนดจำนวนเด็กไว้ฐานละไม่เกิน 15 คน หากเต็ม 15 คนแล้วเด็กต้องคิดยืดหยุ่นไปเล่นฐานอื่นที่ยังไม่เต็มก่อนแล้วค่อยมาเล่นฐานที่เลือกไว้

ช่วงบ่ายหลังจากเด็กๆ ตื่นนอน คุณครูกับเด็กๆ ก็จะมาทบทวนตารางการวางแผนของเด็กแต่ละคน และให้เด็กติดรูปฐานที่ได้ทำจริง หากไม่ตรงตามแผนที่เลือกไว้ก็จะให้เด็กๆ ฝึกการใช้ภาษาสื่อสารบอกเล่าและบอกถึงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่สามารถทำตามแผนได้ เพราะอะไร และเด็กๆ แก้ปัญหาอย่างไร ถือเป็นการฝึกและพัฒนาทักษะ EF ผ่านกิจกรรม Free play เด็กๆ จะได้เล่น (play) และเรียนรู้ (learn) อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน (plearn) ตามสมรรถนะของเด็กแต่ละวัยแต่ละคนอีกด้วย