.
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมอนามัย โดยกล่าวว่า กรมอนามัยจะทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อยกระดับการสร้างสุขอนามัยประชาชนไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยไม่รอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยรักษา แต่จะมุ่งไปควบคุมดูแลสภาพแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ น้ำ อาหาร และที่พักอาศัย
แต่เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ทำให้บางครั้งขาดการประสานงานหรือการทำงานในทิศทางเดียวกัน ทางกรมอนามัยจึงประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลเรื่องสภาพอากาศ กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องระบบประปาหมู่บ้าน หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดูแลเรื่องโรงงาน สารเคมีอันตราย โดยจะมีการทำ MOU ร่วมกันเพื่อควบคุมปัญหาสุขอนามัยตั้งแต่ต้นทาง เช่น การควบคุมคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมอนามัย การควบคุมการปล่อยสารพิษหรือน้ำเสียจากโรงงาน ที่ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวโดยเร็ว เช่น การควบคุมคุณภาพน้ำประปาหรือน้ำดื่มในหมู่บ้าน ที่เริ่มนำร่องโครงการแล้วที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจะขยายไปทั่วประเทศต่อไป.
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้ตรวจเยี่ยมกรมอนามัยและมอบนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และภัยฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งรวมถึงการซักซ้อมทีม SEhRT ที่มีหน้าที่ดูแลในเหตุการณ์ฝุ่นละอองและสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมแนะนำให้ประชาชนเตรียมห้องปลอดฝุ่นเพื่อช่วยลดความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในโอกาสนี้ ได้มีการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สุขภาพ (Health Museum), อาคาร DOH Data Center, บ้านรื่นรมย์, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Day Care), ศูนย์เด็กเล็กวัลลภไทยเหนือ และ Fitness Center ของกรมอนามัย โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ดร.นายแพทย์ ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกรมอนามัยร่วมต้อนรับ.
นายเดชอิศม์กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น มลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และคุณภาพน้ำประปา โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นภัยสุขภาพสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบจากการสัมผัสฝุ่นได้ง่าย”
นอกจากนี้ นายเดชอิศม์ ยังกล่าวถึงภัยฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การรั่วไหลของสารเคมี การระเบิด หรือเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งในปี 2567 มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมากถึง 65 ครั้งในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางแนวทางการดำเนินงานทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยเน้นการสื่อสารให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองและการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในชุมชน พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและทีม อสม. ลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อให้คำแนะนำ และประเมินสุขภาพประชาชนจากภัยสิ่งแวดล้อม