ม.ทักษิณ มุ่งอนุรักษ์พันธุกรรมดอกดาหลา ส้มจุก และมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ เพื่อยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบ BCG จังหวัดพัทลุง

เมื่อวันอังคาร ที่ 21 มีนาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กิจกรรม : การอนุรักษ์พันธุกรรมดอกดาหลา ส้มจุก และมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ เพื่อยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจ และศูนย์เรียนรู้การผลิตมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ภายใต้ระบบ BCG จังหวัดพัทลุง พร้อมร่วมปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ณ แปลงสาธิตการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน  มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

สำหรับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  กิจกรรม : การอนุรักษ์พันธุกรรมดอกดาหลา ส้มจุก และมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ และศูนย์เรียนรู้การผลิตมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ภายใต้ระบบ BCG จังหวัดพัทลุง  มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานรักษาและต่อยอดการพัฒนามะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ด้วยเทคโนโลยี DNA และการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกดาหลา และส้มจุกให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้สำหรับอนุรักษ์พันธุ์พืชของจังหวัดพัทลุง ผ่านศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน เป็นผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย

1. การบรรยายทางวิชาการ “การปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี DNA”

          โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวเรศ  อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. การปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ จำนวน 350 ต้น ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ต้นพันธุ์จาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ธนาคารพันธุกรรมมะพร้าว KU-BEDO Coconut BioBank  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. การปลูกดาหลา จำนวน 20 ต้น

4. การปลูกส้มจุก จำนวน 50 ต้น

กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้บริหารของหน่วยงานระดับจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรกร คณาจารย์นิสิต และผู้สนใจ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 80 คน