วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือขข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” ครั้งที่ 42 (Workshop on UniNet Network and Computer Application 42nd) (WUNCA 42nd) ในระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
เพื่อเป็นเวทีให้มหาวิทยาลัย/สถาบันที่เป็นสมาชิก บนเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ในการดูแลระบบ และบริหารจัดการเครือข่ายที่จะต้องใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย การประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) หรือผู้แทน การจัดบูธแสดงผลงานความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการนำเสนอผลงานด้านความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยมีศาสตราจารย์ ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน หลังจากนั้นมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่ยั่งยืน” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษา ภายใต้ชื่อ UniNet เพื่อบริหารจัดการและเชื่อมโยงเครือข่ายความเร็วสูงระหว่างมหาวิทยาลัย/หน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคและชุมชน มุ่งเน้นการใช้และแบ่งบันทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน ทั้งการเรียน การสอน การวิจัย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้เครือข่ายด้านการศึกษาและวิจัย ได้ร่วมกันนำความรู้ใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดงาน WUNCA
การจัดงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับเครือข่าย กำหนดจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์2566 ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมการศึกษาที่ยั่งยืน ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบเครือข่ายสารสนเทศที่เชื่อมโยงกัน
โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น
• การบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่ยั่งยืน โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
• การอภิปราย พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
• การประชุม CIO สำหรับสถาบันอุดมศึกษา
• ความร่วมมือระหว่างเครือข่าย UniNet กับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช.
• หัวข้อทางด้าน Telemedicine เช่น Cyber Security for Health , ระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อการให้บริการทางการแพทย์ในสังคมเมือง
• การบริหารจัดการความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ
• การจัดการ e-Document
• ระบบลายมือชื่อดิจิทัลภายใต้ Thai University Consortium
• การประชุมผู้บริหารห้องสมุด เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
• AI ChatGPT กับการเฝ้าระวังบทความทางการศึกษา
• และการจัด workshop กว่า 15 หัวข้อ
ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิจัย กว่า 80 แห่ง จำนวน 750 คน