วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

มโนราห์นับร้อยชีวิต รำถวายหลวงปู่ทวดและทวดนวลทองสำลี ในงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ณ วัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้วยความเคารพศรัทธา

มโนราห์ จำนวน 164 คน ร่วมร่ายรำถวายเป็นพุทธบูชาหลวงปู่ทวด และทวดนวลทองสำลี (ทวดยายหฺมฺลี) ณ บริเวณลานพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (เจดีย์ทอง) วัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้วยความเคารพศรัทธา เนื่องในงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ด้วยบทร้องที่ไพเราะลึกซึ้ง กระบวนท่ารำที่ออกแบบให้สวยงามตามแบบฉบับของการรำถวายครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ร่ายรำมาจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และยะลา

ในวันนี้ (25 มี.ค. 65) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานและพิธีบวงสรวง พร้อมอัญเชิญทวดนวลทองสำลี หรือทวดยายหฺมฺลี ขึ้นประดิษฐานยังแท่นเบญจา โดยมีนางสุรียพรรณ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์ วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

สำหรับทวดยายหฺมฺลี หรือ ทวดนวลทองสําลี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ลักษณะเครื่องทรงคล้ายการแต่งกายของมโนราห์ เนื้อสำริด สูง 150 เซนติเมตร สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำนานเล่าว่าในอดีตนานมาแล้ว มีหญิงคนหนึ่งมาพักอาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณนี้ ได้สอนให้ชาวบ้านรู้จักการปั่น ด้ายและทอผ้า เป็นที่รักใคร่นับถือของชาวบ้าน ต่างสำนึกในบุญคุณจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็น เครื่องระลึก และให้ชื่อว่า “พระพุทธรูปยายสำลี” และยังมีความเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นอนุสรณ์ของนางนวลทองสำลี ธิดาพระยาสายฟ้าฟาดเจ้าเมืองพัทลุง ผู้ให้กำเนิด “ขุนศรีศรัทธา ต้นตำนานมโนราห์

ด้านรองศาสตราจารย์ วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ได้ร่วมกับ เครือข่ายโนราภาคใต้ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมโครงการเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่คุณค่าของศิลปะการแสดงโนราให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง ในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอันหลากหลายผ่านเครือข่ายโนราที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและเป็นรากฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญทวดนวลทองสำลี (ทวดยายหฺมฺลี) ในวาระพิเศษ เพื่อให้ลูกหลานสักการะ มโนราห์ 164 คน รำถวายเป็นพุทธบูชาหลวงปู่ทวดและทวดทวดยายหฺมฺลี การแสดงคณะโนราที่มีชื่อเสียงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมอบความบันเทิงตลอดทั้งสองวัน และในภาคค่ำพบกับการแสดงวงดนตรีโนรา คณะไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย และคณะมโนราห์โทน สมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง รวมถึงพิธีกรรมโนราโรงครู กิจกรรมเสวนาและการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโนรา เป็นต้น