วันศุกร์, 16 พฤษภาคม 2568

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จัดการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 16

วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จัดการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติละนานาชาติ ครั้งที่ 16 เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานและเผยแพร่ผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การวิจัย จากนักวิจัย/นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ และเกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยบทความวิจัยที่นำเสนอในการประชุมหาดใหญ่วิชาการครั้งนี้จะได้รับการประเมินคุณภาพทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหลากหลายสถาบัน นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “มหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลกับการปฎิรูปเพื่ออนาคตของประเทศ” วิทยากรโดย ศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ฑีฆสกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทวัส ดิษยะศริน สัตยารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันการปฏิรูปมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรูปแบบการสอน แต่เป็นการเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นกลไกหลัก ในการสร้างอนาคต ของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคน โดยเฉพาะคนในชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้รับการจัดกลุ่มจากสำนักงานปลัดกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ให้เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น มีพันธกิจหลักและยุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และชุมชนที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและการให้ประชาชน  มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่า การจัดการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 16 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการให้กับอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย ตลอดจนเป็นการสร้างแรงกระตุ้น ให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งรูปแบบการจัดงานครั้งนี้ ดำเนินการจัดในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ มีผู้สนใจส่งบทความวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 145 บทความ โดยแบ่งเป็นระดับชาติ จำนวน 104 บทความ นำเสนอภาคบรรยาย ในลักษณะแบบออนไซต์จำนวน 49 บทความและลักษณะแบบออนไลน์ 42 บทความ ภาคโปสเตอร์ จำนวน 13 บทความ ระดับนานาชาตินำเสนอภาคบรรยายแบบออนไลน์ จำนวน 41 บทความ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ยังได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้การช่วยเหลือประเมินบทความและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำกลุ่มสาขาวิชาต่าง ๆ

ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า รางวัลที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้มา เราพยายามขับเคลื่อนให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชุมชนจะต้องสามารถเอาผลงานไปจัดจำหน่ายสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการตลาดออนไลน์ ส่วนของน้ำผึ้งชันโรง เราสามารถผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ โดยประเทศมุสลิมและประเทศจีน ในส่วนของจีนที่เราส่งออกไปที่เซี่ยงไฮ้ สร้างรายได้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยน้ำผึ้งชันโรงที่เกษตรกรในจังหวัดสงขลาผลิตได้ ปีละ 15 ตัน สามารถสร้างรายได้เศษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนปีละประมาณ 20 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความสำเร็จมีรายได้ เราพยายามยกระดับห่วงโซ่คุณค่าอาหารต้นทางให้เป็น สงขลาGastronomyเรามีการออกแบบวัฒนธรรมอาหารเชิงการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ที่จะทำให้สามารถนำวัตถุดิบในชุมชนมาถึงมือผู้บริโภคในมิติต่างๆ ในตอนนี้เรามีการเชื่อมโยงกับ Thailand Gastronomy Network ทำให้สงขลามีความยั่งยืนในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร

การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 16 ถือเป็นเวทีทางวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษา ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างประสบการณ์ด้านการวิจัย สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมในการส่งผลงานวิชาการในครั้งนี้