วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา เฟ้นหา นศ. ตัวแทนออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2567 แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมศักยภาพ สร้างอาชีพให้ชุมชน

มรภ.สงขลา จับมือธนาคารออมสิน จัดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2567 เปิดเวทีนักศึกษานำเสนอผลงาน นำองค์ความรู้และนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพภูมิปัญญา ปลูกจิตสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก ส่งเสริมศักยภาพ สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน

วันที่ 4 เมษายน 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ณ ห้อง Presentation Room อาคาร 2 ชั้น 2 มรภ.สงขลา กล่าวรายงานโดย อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และกล่าวโอวาท ให้คำแนะนำแก่นักศึกษา และบรรยายพิเศษด้านการออม ความรู้ทางการเงิน การทำบัญชี โดย นายธัชกวินท์ รัตตโน ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 18 หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน เพื่อนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษาโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ คณะวิทยาการจัดการ จำนวน 5 ทีม ได้แก่

ทีมวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนร้อยพันธุ์สุวรรณมณี

ทีมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์

ทีมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบาโหย

ทีม วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-เปียน

และ ทีมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนบ้านหนองโอน

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การแก้ปัญหาความยากจนถือเป็นโยบายเร่งด่วนของประเทศไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องผนึกกำลังร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานของความพอดีภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน เพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการส่งเสริมการจ้างงาน โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรอย่างเดียว แต่เพื่อแก้ปัญหาพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมด้วย

มรภ.สงขลา จึงร่วมกับธนาคารออมสินดำเนินโครงออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนที่กระจายอยู่ในท้องถิ่น การส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กร ชุมชน ทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถเข้าสู่ตลาดการค้าโดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมของ มรภ.สงขลา มาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง มั่นคง ตรงกับเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

ด้าน อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ได้ร่วมกับธนาคารออมสินดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษา มาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น ให้มีศักยภาพและมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยการร่วมเรียน ร่วมรู้และร่วมทำในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านการจัดทำบัญชีต้นทุนสินค้า ด้านการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

การดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง มั่นคง และเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้ตระหนักและรู้จักการรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน มองเห็นถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งมีจิตสำนึกในการรักประเทศชาติและถิ่นฐานบ้านเกิด