วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา เฟ้นหาตัวแทนออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นประกวดระดับประเทศ ทีม “POWER CHANGE” พัฒนาสบู่เหลวผลตาลสุก คว้ารางวัลชนะเลิศ

มรภ.สงขลา จับมือธนาคารออมสิน ประกวดผลงาน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เผย ทีม POWER CHANGE คณะวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่เหลวผลตาลสุก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโหนด นา เล อ.สทิงพระ คว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรอบ BEST OF THE BEST ระดับประเทศ

งานศูนย์เครื่องมือกลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมประกวดผลงานโครงการย่อย โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันในระดับประเทศ รอบ BEST OF THE BEST โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ทีมคณาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษา และคณะกรรมการพิจารณาตัวแทนจากธนาคารออมสิน และ มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ มรภ.สงขลา จัดทำร่วมกับธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 

สำหรับผลการพิจารณาจากกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวด จำนวน 7 ทีม ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม POWER CHANGE คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่เหลวผลตาลสุก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโหนด นา เล อ.สทิงพระ จ.สงขลา รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าประกวดรอบในระดับประเทศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม HAPPY PUB คณะเทคโนโลยีการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมกะหรี่ปั๊บไส้ไก่กอและ กลุ่มเกษตรกรหมู่บ้านตัวอย่าง อ.สะเดา จ.สงขลา รับเงินรางวัล 5,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมยุวพัฒน์ราชภัฏสงขลา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หมอโหนดต้านตึงและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สวนเพชรปลายนา อ.สทิงพระ จ.สงขลา รับเงินรางวัล 3,500 บาท

รางวัลชมเชย จำนวน 4 รางวัล รับเงินรางวัลทีมละ 2,000 บาท ได้แก่ 1. ทีม RUBBER TECH คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา บ้านทุ่งหลุมนก อ.สะเดา จ.สงขลา 2. ทีม SKRU ทอฝัน คณะวิทยาการจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋าเชือกพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานเชือกพลาสติก บ้านน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 3. ทีม SKRU ปันสุข คณะวิทยาการจัดการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสวนปันสุข กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนปันสุข บ้านน้ำน้อย อ.บางกล่ำ จ.สงขลา 4. ทีม SKRU รักษ์ถิ่น คณะวิทยาการจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์มะม่วงเบาแช่อิ่ม Singo และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีบ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนตามเป้าหมายของธนาคารออมสิน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางธนาคารฯ ให้ดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น จำนวน 7 โครงการในพื้นที่ของออมสินภาค 18 โดยได้มีการประกวดผลงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2563 เพื่อร่วมกันพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ SMEs Startup และอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประชาชนหรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้มีศักยภาพ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยการนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ด้าน อาจารย์ ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นเป็นการลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การจัดการราคา และความสามารถในการทำกำไร การจัดการการตลาด และการจัดการช่องทางจัดจำหน่าย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ SME Start Up และอื่น ๆ โดยนำความรู้มาบูรณาการกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับกระบวนการต่าง ๆ ที่ธนาคารออมสินสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตลอดเวลา ส่งผลให้การค้าขายในอาชีพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ