วันเสาร์, 24 พฤษภาคม 2568

มรภ.สงขลา เปิดเวทีประกวดแนวปฏิบัติที่ดี
ส่งเสริมหน่วยงานจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มรภ.สงขลา จัดประกวดแนวปฏิบัติที่ดี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำงาน สนับสนุนหน่วยงานจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ พร้อมมอบรางวัลสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 งานมาตรฐานและประกันคุณภาพ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี ณ ห้องประชุม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา โดยมี ผศ.ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาหน่วยงาน เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย อาจารย์เอมอร อ่าวสกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มรภ.สงขลา

การจัดโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถถ่ายทอดความรู้ เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานจัดการความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วม จำนวน 14 ผลงาน ประกอบด้วย ด้านผลิตบัณฑิต 2 ผลงาน ด้านวิจัย 2 ผลงาน ด้านบริการวิชาการ 2 ผลงานด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 1 ผลงาน ด้านบริหารงาน 7 ผลงาน

สำหรับผลรางวัลโครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ประจำปีการศึกษา 2567 มีดังนี้
ด้านผลิตบัณฑิต รางวัลชนะเลิศ ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล คณะเทคโนโลยีการเกษตร จากผลงาน “การพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” รางวัลรองชนะเลิศ อาจารย์นายสัตวแพทย์รัญจวน อิสรรักษ์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร ผลงาน “บูรณาการงานวิศวกรสังคมสู่การเรียนการสอน”

ด้านงานวิจัย รางวัลชนะเลิศ นายธนภัทร เจิมขวัญ/อาจารย์ ดร.เพชร รองพล และคณะทำงาน สถาบันวิจัยและพัฒนา จากผลงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยด้วยแนวคิด Progressive Tasking ผ่าน Generative AI” รางวัลรองชนะเลิศ อาจารย์วงศ์วรุตม์ อินตะนัย และคณะทำงาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลงาน “กระบวนการนำผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรม สู่การนำไปใช้ประโยชน์”

ด้านบริการวิชาการ รางวัลชนะเลิศ อาจารย์ ดร.โชติกา รติชลิยกุล น.ส.จุฑามาศ แก้วศรี และคณะทำงานบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากผลงาน “การประยุกต์ใช้แนวคิดฝูงห่านไซบีเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม กรณีศึกษางานบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา” รางวัลรองชนะเลิศ ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงาน “นวัตกรรมจากฐานชุมชน : บริการวิชาการยกระดับพืช-สัตว์เศรษฐกิจสู่อนุสิทธิบัตร”

ด้านศิลปะและวัฒนธรรม รางวัลชมเชย นายอัครวิชญ์ ขวัญปลอด และคณะทำงาน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จากผลงาน บอร์ดเกม “เล่น เรียนรู้ วัฒนธรรม อัตลักษณ์สงขลา”

ด้านการบริหารพัฒนางาน รางวัลชนะเลิศ นางจิราภรณ์ บัวจันทร์ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน จากผลงาน “ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานนักศึกษาสหกิจศึกษา” รางวัลรองชนะเลิศ นางวริษฐา ตันติพงศ์ และคณะทำงาน คณะเทคโนโลยีการเกษตร ผลงาน “การพัฒนารูปแบบการบันทึกบัญชีเงินรายได้ของส่วนราชการภายใน มรภ.สงขลา” รางวัลชมเชย 4 รางวัล ได้แก่ 1. นางณัฐธยาน์ หนูหลง คณะครุศาสตร์ ผลงาน “การใช้ Application Canva เพื่อสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์คณะครุศาสตร์” 2. นายพรศักดิ์ ศรีช่วย และคณะทำงาน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผลงาน “ระบบติดตามและบริหารครุภัณฑ์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” 3. นายสรายุทธ กูลเกื้อ และคณะทำงาน สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลงาน “ระบบย่อลิงก์ออนไลน์ สำหรับการเข้าถึงข้อมูล มรภ.สงขลา” 4. สำนักงานอธิการบดี ผลงาน “เปิดบ้านสำนักงานอธิการบดี”

ผลงานการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกระบวนการจัดการความรู้ (KM) เป็นฐานในการปรับปรุงพัฒนา นางกฤชณัท พงศ์จันทรเสถียร และคณะทำงาน สำนักงานอธิการบดี จากผลงาน “การยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยใช้ PDCAI Model”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อมูล โดย สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน