วันอาทิตย์, 29 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชุมชนเกาะแต้ว บริการวิชาการปกปัก-พัฒนาพันธุกรรมพืชคู่ท้องถิ่นภาคใต้

คณะเทคโนโลยีการเกษตร จับมืองานศูนย์เครื่องมือกลาง มรภ.สงขลา เดินหน้า โครงการบริการวิชาการพื้นที่ ต.เกาะแต้ว ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดี 3 พันธุ์ สังข์หยด หอมเบา ยาเหวย ให้เกษตรกร ด้านชุมชนเผยความประทับใจ ได้รับความรู้ใหม่จากการลงมือปฏิบัติจริง    

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ภายใต้การดำเนินงานของคณะเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา สู่วิสาหกิจชุมชนปีที่ 1: กิจกรรมที่ 1 “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอินทรีย์คุณภาพดีเพื่อสนับสนุนความต้องการของเกษตรกรเฉพาะพื้นที่” นับตั้งแต่ปี 2560 ทางคณะฯ ดำเนินโครงการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่องแก่ชุมชน เพื่อเพิ่มทักษะวิชาชีพและพัฒนาอาชีพของกลุ่มเกษตรกรให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ความมุ่งมั่นตั้งใจประการหนึ่ง คือ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองโดยเกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วม

ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรเกาะแต้วมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีความหลากหลายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคัดพันธุ์ข้าว การปรับปรุงสภาพ และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์อย่างถูกวิธี จึงทำให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรในชุมชนเกาะแต้วปลูกนั้นมีการปะปนพันธุ์ ส่งผลให้ผลผลิตต่ำ และเกษตรกรไม่สามารถทราบศักยภาพของพันธุ์อย่างถูกต้องชัดเจน  ดังนั้น ในฤดูนาปี 2562 ตนและทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร จึงได้บริการวิชาการโดยจัดทำแปลงสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีในรูปแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม โดยบูรณาการความรู้เชิงวิชาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผลการดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้คือกลุ่มเกษตรกรชุมชนเกาะแต้วได้รับความรู้ความเข้าใจและฝึกปฏิบัติการปลูกข้าวแบบรวงต่อแถวโดยปักดำกล้า 1 ต้นต่อหลุม และการคัดพันธุ์ปนในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ โดยสามารถได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ จำนวน 3 พันธุ์ คือ สังข์หยด หอมเบา และ ยาเหวยจากแปลงนาธรรมชาติที่ปลอดภัยส่วนแนวทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การเพิ่มมูลค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ถูกต้องตามลักษณะประจำพันธุ์จากแปลงนาธรรมชาตินี้ โดยการขอรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ และนำไปสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ระดับวิสาหกิจชุมชนต่อไป 

ขณะเดียวกัน งานศูนย์เครื่องมือกลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช และวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช ตามนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นภาคใต้ในแหล่งที่ปลูก ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไปจากธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 มรภ.สงขลา ภายใต้การดำเนินงานคณะเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมคณะดำเนินงาน อพ.สธ. ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดี ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ณ ตำบลเกาะแต้ว ทั้งยังได้ร่วมลงพื้นที่และสังเกตการณ์ในการให้ความรู้ความเข้าใจ และฝึกปฏิบัติการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภายใต้การดูแลของนักวิชาการ ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่มีความบริสุทธิ์ถูกต้องตามลักษณะประจำพันธุ์และมีคุณภาพดี จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ สังข์หยด หอมเบา และ ยาเหวย ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชุมชนเกาะแต้ว มีแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอินทรีย์คุณภาพดีสำหรับการใช้เพาะปลูกในชุมชน

ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ประธานอนุกรรมการโครงการ อพ.สธ. มรภ.สงขลา กล่าวว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีในรูปแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม นับเป็นการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ อพ.สธ. ในการสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการร่วมทำกิจกรรมที่มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ด้าน นางกอรียะ บินรักแก้ว อายุ 58 ปี เกษตรกรอาสาผู้เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ยาเหวยในแปลงนาสาธิต กล่าวว่า ได้รับความรู้แปลกใหม่จากการเพาะกล้าแบบวางรวงและปลูกปักดำแบบรวงต่อแถวโดยปักดำกล้า 1 ต้นต่อหลุม ทำให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ในการปลูกและเห็นผลได้ชัดว่าการปลูกข้าวแบบปัก 1 ต้นต่อหลุม ข้าวแตกกอได้มากกว่าจากเดิมที่เคยปักดำจำนวน 8-10 ต้นต่อหลุม และรวงข้าวที่ได้มีเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์มากกว่า

                นางหวันสะเหร๊าะ บินมุสา อายุ 54 ปี เกษตรกรอาสาผู้เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองพันธุ์สังข์หยดในแปลงนาสาธิต กล่าวว่า ไม่เคยมีโครงการดีๆ แบบนี้มาก่อน ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ สามารถพัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้นได้ ที่ผ่านมาตนเองใช้ต้นกล้าจำนวนมากในการดำนา ต้นข้าวที่โตขึ้นมาจึงเเน่นเกินไป ต้องถอนทิ้งภายหลัง ทำให้เกิดการสูญเสียเมล็ดพันธุ์โดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อได้ลองปลูกแค่ต้นเดียว จะได้จำนวนต้นที่แตกออกมาเยอะ และต้นข้าวก็โตสมบูรณ์ดี
                นายยศพัฒน์ พันธุ์สะและหมัน อายุ 51 ปี เกษตรกรอาสาผู้เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองพันธุ์หอมเบาในแปลงนาสาธิต กล่าวว่า ภูมิใจที่ทาง มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญกับเกษตรกรชุมชนเกาะแต้ว ตนรู้สึกประทับใจที่ได้เรียนรู้การคัดแยกเมล็ดพันธุ์ การคัดพันธุ์ปนก่อนปลูก และการตรวจคัดพันธุ์ปนในระยะต่างๆ ของข้าว เพราะเห็นได้จริงจากการลงมือปฏิบัติเลยว่า ได้พันธุ์ข้าวที่ตรงตามพันธุ์ที่ชัดเจนขึ้น ไม่มีพันธุ์อื่นปน