วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา สัมมนาผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศ หาแนวทางเพิ่มสมรรถนะ นศ. ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ต่อยอดสู่ครูมิติใหม่

คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดสัมมนาผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศของนักศึกษาปฏิบัติการสอน (หลักสูตร 4 ปีและ 5 ปี) จับมือโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู หาแนวทางเพิ่มสมรรถนะฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ต่อยอดสู่ครูมิติใหม่

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศก์ของนักศึกษาปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา (หลักสูตร 4 ปีและ 5 ปี) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เมื่อไม่นานมานี้ว่า ขอแสดงความชื่นชมในความร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู และคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ในการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนานักศึกษา ให้มีคุณภาพและสมรรถนะเพื่อไปประกอบวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนด นับเป็นสิ่งน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่มีโอกาสได้ทราบแนวทางการดูแลนักศึกษาในระหว่างการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา โดยการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และพัฒนากระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของคณะครุศาสตร์ ร่วมกัน

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความรู้ความเข้าใจในมิติการผลิตและการพัฒนาครูในมิติใหม่ โดยเฉพาะหลักสูตร 4 ปีให้แก่ครูสถานศึกษาเครือข่ายผู้ร่วมพัฒนาวิชาชีพครู สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการสอนและการนิเทศ ตลอดจนรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เนื่องจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูถือเป็นกระบวนการสำคัญที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนงานในหน้าที่ครูอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม เป็นโอกาสที่จะได้นำความรู้และทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ และสร้างองค์ความรู้ทางการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์และแก้ปัญหาในกระบวนการทำงาน โดยมีครูพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิตวิชาชีพครู และการเป็นครูมืออาชีพในอนาคต

ด้าน อาจารย์วรรณี กองพิธี รองคณบดีฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า คณะครุศาสตร์มีภารกิจในการพัฒนานักศึกษาเพื่อไปประกอบวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนด นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตต้องไปปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของสังคม ในเรื่องการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู โดยในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่ไปปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 8 สาขาวิชา จำนวน 880 คน และเข้าฝึกในโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ใน จ.สงขลา พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต ที่เป็นเครือข่าย มรภ.สงขลา มีคุณภาพเป็นไปตามที่คุรุสภากำหนด จำนวน 75 โรงเรียน

ทั้งนี้ คณะครุศาสตร์ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ในการจัดครูพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษา และเป็นแบบอย่างหรือ Model Teacher ให้กับนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูชั้นปีที่ 5 ได้เข้าไปรายงานตัวที่สถานศึกษา และเริ่มฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 โดยในภาคการศึกษาที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในสถานศึกษาถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2564

อาจารย์วรรณี กล่าวอีกว่า โครงการสัมมนาในครั้งนี้มีผู้บริหารโรงเรียน ครูพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศก์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 300 คน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการผลิตพัฒนาครูในปัจจุบัน และทศวรรษหน้า” การบรรยายเรื่อง “การผลิตและพัฒนาครูของคณะครุศาสตร์”  โดย ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา การบรรยาย เรื่อง “สอนออนไลน์อย่างไรให้เข้าถึงใจของผู้เรียน” วิทยากรโดย ผศ.ดร.ชุติมา จันทรจิตร ผศ.ดร.เพ็ญพักตร นภากุล และ ดร.เพชร รองพล อาจารย์คณะครุศาสตร์ นอกจากนั้น ยังมีการแนะนำอาจารย์นิเทศก์ประจำวิชาและอาจารย์นิเทศก์ประจำโรงเรียน สัมมนากลุ่มย่อยผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศก์ ตามสาขาวิชาเอก  ในประเด็นที่กำหนด 3 ประเด็น คือ 1. ความพร้อมของนักศึกษา 2. ระบบกระบวนการส่งนักศึกษา 3. ความพึงพอใจที่มีต่อการฝึกปฏิบัติการสอนของนักศึกษา