มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือสมาคมไทยโลจิสติกส์ฯ- บ.รีด อินสเปคชั่นฯผนึกกำลังจัดการศึกษา พัฒนากำลังคนสอดรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือสมาคมไทยโลจิสติกส์ฯ และ บริษัท รีด อินสเปคชั่น จำกัด จับมือร่วมจัดการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนสอดคล้องความต้องการภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ ควบคู่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้านสหกิจฯ

วันที่ 22 มกราคม 2568 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา พร้อมด้วย ผศ.ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ ร่วมกับสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต และ บริษัท รีด อินสเปคชั่น จำกัด ณ ห้องประชุม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และตัวแทนของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษา ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยในด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้านสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education : CWIE) และส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการในการใช้อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนร่วมกันในอนาคต พัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพจากการไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ระบบการทำงาน

นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักและทฤษฎีของสถานประกอบการโดยมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ จัดให้มีการเรียนการสอนที่ได้คุณภาพและสามารถพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ออกใบประกาศนียบัตรให้ผู้เรียน ผู้ฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการทำงานต่อไปได้

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในครั้งนี้ นับเป็นครั้งสำคัญที่สถานประกอบการที่เข้ามาร่วมมือด้านวิชาการ จะได้นำเอาความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุน มาร่วมมือกันจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาสื่อการเรียนการสอน การฝึกอบรมและกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ จึงนับเป็นคุณูปการและเป็นต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่างของบริษัท ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะได้เข้ามาร่วมมือกันต่อไปในอนาคต เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพร่วมกัน โดยต่างนำจุดเด่นมาเสริมกัน ซึ่งจะสามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าได้อย่างรวดเร็ว ช่วยยกระดับการศึกษาของไทยแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน