คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ บ.ซี เวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ดฯ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตร BCG แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ เสริมศักยภาพนักศึกษามีประสบการณ์ทางวิชาชีพที่สอดคล้องความต้องการภาคธุรกิจเกษตร
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย รศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตร BCG (Memorandum of Agreement : MOA) กับบริษัท ซี เวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด นำโดย นายชูศักดิ์ จริงจิตร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต และ นายนิรันดร วรรณพิมพ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสนับสนุนการผลิต ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เกิดขึ้น ณ บริษัท ซี เวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด ต.ทำนบ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีผู้บริหารและคณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ประกอบด้วย ผศ.ขนิษฐา พันชูกลาง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ดร.มงคล เทพรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร ทล.บ.เทคโนโลยีการผลิตพืช และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรฯ พร้อมด้วยบุคลากร และผู้จัดการแต่ละฝ่ายของบริษัท ซี เวลท์ฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
โอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้ลงนามความร่วมมือ นำโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา นายชูศักดิ์ จริงจิตร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต รศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบ BCG และได้ร่วมกันปลูกผักลงแปลงสาธิต กิจกรรมปล่อยลูกกุ้งลงบ่อน้ำที่ผ่านการบำบัดมาอย่างสะอาด และเยี่ยมชมแปลงกล้วย แปลงปาล์มน้ำมันภายในศูนย์เรียนรู้ที่มีศิษย์เก่าของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ดูแลปฏิบัติงานอยู่ด้วย
ทั้งนี้ จากการลงนามความร่วมมือ ( MOU) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการต่างๆ กับสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOA) เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตร BCG ต้นแบบ โดย ดร.มงคล เทพรัตน์ ได้กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการศูนย์เรียนรู้เกษตร BCG รวมถึงแนวทางการดำเนินงานตาม MOA เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และงานวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของแหล่งเรียนรู้นี้ก็เพื่อลดของเสียจากโรงงานให้เป็นศูนย์ (Zero waste) การสร้างมูลค่าให้กับตะกอนชีวภาพที่เกิดจากการผลิตของโรงงานฯ รองรับการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพได้เรียนรู้และฝึกทักษะปฏิบัติแบบบูรณาการศาสตร์ตามหลักระบบเศรษฐกิจที่นำความรู้และนวัตกรรมทางด้านชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่น ๆ มาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้า และบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้นอกจากมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) แล้ว ยังหวังว่าจะสามารถรองรับการเรียนการสอนของหลักสูตร ทล.บ.สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
นอกจากนั้น ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง ยังได้นำวัสดุกระถางเพาะขึ้นรูปที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการนำตะกอนชีวภาพมาสร้างมูลค่า และเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะกล้าพืชได้ รวมถึงการนำตะกอนมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผงและอัดเม็ด โดยผลงานนวัตกรรมเหล่านี้ยังได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร จากการแข่งขันทักษะวิชาการและวิชาชีพ เครือข่ายเกษตรราชภัฏในปีที่ผ่านมาอีกด้วย