มรภ.สงขลา มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อเรือยาวประเพณี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ชื่อเรือ “ทักษิณา-สลาตัน” ผลงาน เอกลักษณ์ รัตนโชติ สะท้อนแนวคิดพหุวัฒนธรรมรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คว้ารางวัลชนะเลิศ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อเรือยาวประเพณี จำนวน 2 ลำ จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางศิลปะและวัฒนธรรม “กีฬาเรือยาวประเพณี” โดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินจากชื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เชื่อมโยงวิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งการประกวดครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจส่งชื่อเรือยาวพร้อมคำบรรยายเข้าร่วมประกวดรวมทั้งสิ้น 62 คน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเอกลักษณ์ รัตนโชติ ชื่อเรือลำที่ 1 ทักษิณา ชื่อเรือลำที่ 2 สลาตัน รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1. นายคนคีตา พรหมสุวรรณ ชื่อเรือลำที่ 1 ยอดคลื่น ชื่อเรือลำที่ 2 ยืนหนึ่ง 2. นายบัญชร วิเชียรศรี ชื่อเรือลำที่ 1 ชาญนที ชื่อเรือลำที่ 2 ศรีปาริฉัตร 3. นางสาวศรัณญา โรจนวงศ์ชัย ชื่อเรือลำที่ 1 ธนูนาวา ชื่อเรือลำที่ 2 พยัคฆ์วารี ซึ่งการประกวดตั้งชื่อเรือยาวในครั้งนี้
สำหรับแนวคิดของชื่อเรือทั้ง 2 ลำดังกล่าว คำว่า ทักษิณา เป็นคำสันสกฤตแปลว่าทิศใต้ สะท้อนถึงตำแหน่งที่ตั้งของทะเลสาบสงขลาและเมืองสงขลา ว่าเป็นเมืองท่าสำคัญที่อยู่ทางภาคใต้ ทั้งนี้ การเลือกใช้คำที่มีรากมาจากภาษาสันกฤต เป็นการเชื่อมโยงว่ากับวัฒนธรรมเก่าแก่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลานี้มีได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมที่ถ่ายทอดมาอินเดียทั้งจากวัฒนธรรมพราหมณ์และพุทธ คำว่า สลาตัน เป็นคำที่มีรากมาจากภาษามลายูว่า selatan แปลว่าทิศใต้ ซึ่งล้อความหมายกับคำว่าทักษิณา ที่บอกภูมิประเทศตำแหน่งของเมืองสงขลา การเลือกใช้คำมลายูในการตั้งชื่อเรือเพื่อเป็นการบ่งบอกว่าในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานี้มีวัฒนธรรมมลายูตกทอดร่วมอยู่ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คำว่าสลาตัน ยังให้นัยยะถึงความว่องไว รวดเร็ว อันสะท้อนถึงความว่องไวปราดเปรียวของเรือลำนี้เมื่อใช้ในการพายแข่งขัน ดังนั้น การตั้งชื่อเรือว่า ทักษิณา-สลาตัน จึงให้นัยยะทั้งความหมายโดยตรงที่เกี่ยวของกับภาคใต้/ทิศใต้ และมีนัยยะถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมที่พบรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาผ่านการเลือกใช้รากศัพท์ของคำ