วันอาทิตย์, 17 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ฟื้นประเพณีแห่ผ้าห่มพระนอน ลอยแพสะเดาะเคราะห์ วัดแหลมพ้อ ต.เกาะยอ

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จับมือองค์กรพันธมิตร รื้อฟื้นประเพณีแห่ผ้าห่มพระนอนและลอยแพสะเดาะเคราะห์ วัดแหลมพ้อ ต.เกาะยอ ที่มีมานานกว่า 70 ปี ปัดเป่าทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน จัดเต็มหลากกิจกรรม เสวนาทางวิชาการ พร้อมสนุกไปกับการแข่งขันชกมวยตับจาก ชิงถ้วยอธิการบดี ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2566  

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับวัดแหลมพ้อ คณะกรรมการตลาดวัฒนธรรมเกาะยอ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ พัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา พาณิชย์จังหวัดสงขลา และชาวชุมชนเกาะยอ จัดงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระนอนและลอยแพสะเดาะเคราะห์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ ตลาดวัฒนธรรมเกาะยอ วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมแห่ผ้าห่มพระนอน กิจกรรมลอยแพสะเดาะเคราะห์ การออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนเกาะยอ การแสดงดนตรี/ร้องเพลง

นอกจากนั้น ยังมีการเสวนา “ผ้าทอเกาะยอ ความภาคภูมิใจของคนสงขลา” การเดินแบบแฟชั่นโชว์ ผ้าทอเกาะยอ นิทรรศการของดีเกาะยอ การแสดงทางวัฒนธรรม ศิลปะการรำ/การแสดงพื้นบ้าน การแข่งขันทำอาหารโดยใช้ปลากะพงเป็นวัตถุดิบ การประกวด “สาวงามผ้าทอเกาะยอ” การเสวนา “ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ ประเพณีเก่าแก่ที่หายไปของชาวเกาะยอ” การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันชกมวยตับจาก ชิงถ้วยอธิการบดี มรภ.สงขลา พิธีสวดสะเดาะเคราะห์/สวดนพเคราะห์เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้าย ทุกข์โศกโรคภัยออกจากชีวิต

  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้กล่าวถึงประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ว่า เป็นประเพณีเก่าแก่โบราณที่มีมานาน ไม่สามารถระบุได้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่เกาะยอ เล่าว่ามีมานานกว่า 70 ปี เพราะสมัยที่ท่านเกิดก็มีประเพณีนี้อยู่แล้ว ซึ่งการจัดประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ทำขึ้นเพื่อปัดเป่าเอาความทุกข์ ความโศก โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน พิธีนี้เริ่มแรกทำที่ใต้ต้นหว้า หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย และต่อมาขยายไปทั่วพื้นที่เกาะยอ โดยเฉพาะวัดแหลมพ้อ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี โดยชาวบ้านจะนำปิ่นโตมาถวาย พระสงฆ์มีการสวดให้พร สวดสะเดาะเคราะห์ให้คนทั้งหมู่บ้าน ในพิธีกรรมชาวบ้านจะตัดเล็บมือ เล็บเท้า ผม เสื้อผ้า

นอกจากนั้น ยังมีการใส่ขมิ้น หัวหอม ดีปลี (พริก) ข้าวสาร น้ำ และเงินใส่ในแพ (ตัวแพทำจากหยวก หลังคาทำจากใบมะพร้าว ภายในแพจะมีรูปนายเภาเรือซึ่งแกะสลักจากไม้ ถือตีนแจวและไม้พายเรือ อยู่ท้ายเรือ) เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีสวดให้พร สวดสะเดาะเคราะห์เสร็จจะฉันเพล หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำแพไปลอยในทะเล โดยมีการแห่ขบวนทางน้ำ ใช้เรือหางยาวหลายลำ มีการร้องรำทำเพลง ดีด สี ตี เป่า เครื่องดนตรีภายในเรือขบวน ภายหลังพิธีกรรมนี้ได้หายไปเมื่อประมาณช่วงปี 2560 ทางชุมชนเกาะยอมีความต้องการที่จะรื้อฟื้นประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ประเพณีโบราณของคนเกาะยอให้กลับมาอีกครั้ง จึงนำมาสู่การจัดงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระนอนและลอยแพสะเดาะเคราะห์ในครั้งนี้

เรื่องมาใหม่