วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ผนึก มรภ.ลำปาง-รฟท. พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายวัฒนธรรมภาคใต้

มรภ.สงขลา ผนึกกำลัง มรภ.ลำปาง รฟท. เดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยในมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายวัฒนธรรมภาคใต้ คาดเปิดตัวได้ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 หวังรองรับกลุ่มนักเดินทางมาเลเซีย เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

คณะผู้วิจัย “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟในเส้นทางนำร่อง : รถไฟสายวัฒนธรรมภาคใต้”จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.คมวิทย์ ศิริธร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และ อ.ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมเวทีการประชุมเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานในเชิงรุก โดยได้หารือร่วมกับคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลำปาง) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการเดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยในมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟ ในเส้นทางศักยภาพของพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ภาคใต้ โดยมี นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการการ รฟท. เป็นประธานให้การต้อนรับและร่วมหารือกับคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566

 อ.ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะผู้วิจัยจาก มรภ.สงขลา และ มรภ.ลำปาง ร่วมกับ รฟท. ภายใต้การหนุนเสริมของหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สกสว. กระทรวง อว. ในการศึกษาศักยภาพของระบบรางภาคใต้สู่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนารูปแบบเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนอัตลักษณ์ของเส้นทางวัฒนธรรมภาคใต้ และนำไปสู่การศึกษารูปแบบการจัดการเชิงพาณิชย์ร่วมกับ รฟท. เพื่อนำเสนอขายต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่สนใจเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟในเส้นทางสายวัฒนธรรมภาคใต้ กระจายการเดินทางท่องเที่ยวและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา รถไฟ KTM ของประเทศมาเลเซีย จัดขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษซึ่งเป็นขบวนรถนำเที่ยววิ่งตรงจากสถานีรถไฟ KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มายังปลายทางที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา เดือนละกว่า 400 คน จึงถือเป็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทางรถไฟเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยคาดว่าสามารถเปิดตัวเส้นทางการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายวัฒนธรรมภาคใต้ ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 โดยจะทำการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจต่อไป